TLD-003-1469
ดาวดึงษาสวรรค์ (ชื่อสถานที่)
ไตรภูมิกถา ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา
ดาวดึงษาสวรรค์เป็นสวรรค์ในเรื่องไตรภูมิกถา เป็นสวรรค์ชั้นที่ 2 ในฉกามาพจร*
ดาวดึงษาสวรรค์อยู่ถัดจากจาตุมหาราชิกาสวรรค์*ขึ้นไปได้ไกล 336 ล้านวา ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสิเนรุราชบรรพต* หรือเขาพระสุเมรุ* บนยอดเขามีเมืองของพระอินทร์*ผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทพยดาทั้งหลายชื่อว่านครไตรตรึงษ์* กว้างยาวได้ 8,000,000 วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีประตู 1,000 ประตู เหนือประตูทั้งหมดมียอดปราสาทประดับด้วยแก้ว 7 ประการสูงถึง 250,000 วา เมื่อเปิดปิดประตูทุกครั้งจะได้ยินเสียงดนตรีทิพย์ดังไพเราะยิ่งนัก กลางนครไตรตรึงษ์มีไพชยนต์ปราสาทอันงดงามไปด้วยแก้วสัตตพิธรัตนะ
ด้านตะวันออกของนครไตรตรึงษ์มีอุทยานทิพย์ชื่อว่านันทวนุทยาน* มีกำแพงแก้วล้อมรอบ อุทยานนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้ ลูกไม้ เป็นที่เที่ยวเล่นสนุกสนานสำราญใจของเทพยดาในนครนั้น นอกนครไตรตรึงษ์ด้านทิศใต้มีอุทยานใหญ่สวยงามชื่อผารุสกวัน* ไม้ในสวนนี้งดงามราวดัดไว้
ด้านทิศตะวันตกมีอุทยานใหญ่อันงดงามมากอีกแห่งหนึ่งเป็นสวนไม้เครือเถาชื่อว่าจิตรลดาวัน* เป็นที่เที่ยวเล่นสนุกสนานของเทพยดาเช่นเดียวกัน
ด้านทิศเหนือของนครไตรตรึงษ์มีอุทยานใหญ่ชื่อมิสสกวัน* มีต้นไม้และเถาวัลย์งดงามดังตั้งใจตกแต่งไว้ อุทยานนี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เขาพระสุเมรุมีช้างตัวหนึ่งชื่อไอยราพต* หรือไอยราพัณ* ซึ่งแท้จริงเป็นเทพยดาชื่อไอยราพัณเทวบุตร เมื่อพระอินทร์ประสงค์จะทรงช้างไป ณ ที่ใด ไอยราพัณเทวบุตรก็เนรมิตตนเป็นช้างเผือกตัวใหญ่มาก มีหัวถึง 33 หัว หัวที่อยู่ตรงกลางมีขนาดใหญ่ชื่อว่าสุทัศน์* เป็นพระที่นั่งของพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ประทับนั่งเหนือแท่นแก้วซึ่งอยู่บนหัวช้างไอยราพัณ จะมีชายาชื่อนางสุธัมมา*นั่งเฝ้าอยู่ด้านซ้าย นางสุชาดา*นั่งเฝ้าอยู่ด้านขวา นางสุนันทา*นั่งเฝ้าอยู่ด้านหลังทางขวา และนางสุจิตรา*นั่งเฝ้าอยู่ด้านหลังทางซ้าย ชายาทุกพระองค์มีบริวารเฝ้าอยู่ด้วย ถัดไปเป็นนางฟ้าชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นชายาของพระอินทร์อีก 92 นางนั่งเฝ้าอยู่โดยรอบ
นอกนครไตรตรึงษ์ทิศอาคเนย์ มีพระเจดีย์องค์หนึ่งตกแต่งประดับประดารุ่งเรืองงามชื่อพระจุฬามณีเจดีย์ พระอินทร์พร้อมด้วยเทพยดานางฟ้าผู้เป็นบริวารมักนำดอกไม้ธูปเทียนเครื่องบูชาต่าง ๆ ไปบูชาพระเจดีย์ทุกวัน
ด้านทิศอีสานมีอุทยานชื่อบุณฑริกวัน* ในอุทยานมีต้นทองหลางใหญ่ต้นหนึ่งชื่อ ปาฤกชาตกัลปพฤกษ์* รอบต้นวัดได้ 120,000 วา สูง 800,000 วา ใต้ต้นไม้นี้มีแท่นศิลาแก้ว ชื่อปัณฑุกัมพล* ซึ่งมีสีแดงเข้มดังดอกสะเอ้ง มีความอ่อนราวฟูกและนุ่มราวหงอนของหงส์ทอง เมื่อพระอินทร์ประทับบนแท่นนี้ แผ่นศิลาจะอ่อนยุบลงไปจนถึงสะดือ เมื่อพระอินทร์ลุกขึ้น ศิลานั้นก็เต็มขึ้นมาดังเดิม บริเวณต้นปาฤกชาตและปัณฑุกัมพลมีศาลาแห่งหนึ่งชื่อสุธรรมาเทพยสภาคยศาลา*ซึ่งเป็นที่ที่เทพยดามาชุมนุมกันฟังธรรม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory