กาฬกัณณีเป็นตัวละครในเรื่องสิริกาฬกัณณิชาดก ฉักกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นเทพธิดา
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเศรษฐีชื่อสุจิปริวาระ*อยู่ในเมืองพาราณสี* เศรษฐี ภรรยา บุตร และทาสได้ถวายทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถอยู่เป็นนิจ จึงเป็นผู้มีบริวารสะอาด วันหนึ่งเศรษฐีคิดว่าหากผู้มีบริวารสะอาดมาขอพบก็ไม่ควรที่จะให้ผู้นั้นนั่งหรือนอนบนที่นอนอันไม่สะอาด เศรษฐีจึงให้บริวารนำอาสนะและที่นอนสะอาดออกมาเปลี่ยนและตั้งไว้ ณ ที่ที่เหมาะควรแก่การเข้าพบ
ในเวลานั้น มีธิดาของท้าววิรูปักข์มหาราช*ชื่อกาฬกัณณี และธิดาของท้าวธตรฐมหาราช*ชื่อสิริเทพธิดา* เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เพื่อมาสรงสนานในสระอโนดาต นางทั้งสองเถียงกันว่าผู้ใดสมควรที่จะได้ลงสรงสนานในสระอโนดาตก่อน เมื่อหาข้อยุติไม่ได้ นางทั้งสองจึงไปทูลถามท้าวมหาราชทั้งสี่ คือ ท้าวธตรฐ* ท้าววิรูปักข์* ท้าววิรุฬหก* และท้าวเวสสุวรรณ* แต่ท้าวมหาราชทั้งสี่ก็ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ จึงให้นางทั้งสองไปทูลถามท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) พระอินทร์ก็มิอาจวินิจฉัยได้เพราะเกรงจะไม่ยุติธรรม จึงแนะนำให้นางทั้งสองไปที่บ้านของเศรษฐีสุจิปริวาระเพราะเศรษฐีนั้นปูอาสนะและที่นอนที่สะอาดไว้ หากใครก็ตามที่ได้นั่งหรือนอน ณ ที่นั้นก่อน คนผู้นั้นก็จะได้ลงสรงสนานในสระอโนดาตก่อน
เมื่อนางทั้งสองได้สดับเทวโองการแล้ว นางกาฬกัณณีจึงนุ่งห่มและแต่งเครื่องประดับสีเขียว เสด็จลงจากสวรรค์ไปบ้านเศรษฐี ประทับอยู่ในอากาศใกล้กับอาสนะนั้น เศรษฐีเห็นนาง เกิดความไม่พอใจในรูปลักษณ์ จึงถามความเป็นมา นางกาฬกัณณีตอบว่าตนเป็นธิดาท้าววิรูปักข์ จะขออาศัยพักที่บ้านของเศรษฐีคืนหนึ่ง ขอให้ได้พักบนอาสนะที่สะอาดนี้ เศรษฐีถามต่อว่านางพอใจชายที่ประพฤติเช่นไร นางตอบว่านางพอใจชายที่ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ อิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ ชอบพูดส่อเสียด และดูหมิ่นผู้อื่น เมื่อเศรษฐีได้ฟังแล้วก็บอกให้นางกาฬกัณณีกลับไป
หลังจากนั้นสิริเทพธิดาผู้นุ่งห่มและแต่งเครื่องประดับสีทองก็มาที่บ้านของเศรษฐี ยืนสำรวมอยู่ เศรษฐีจึงถามเช่นเดียวกับนางกาฬกัณณี นางตอบว่านางเป็นธิดาท้าวธตรฐ และนางพอใจชายที่ประพฤติดี เป็นผู้เข้าถึงศีล สงเคราะห์มิตร มีวาจาไพเราะ มีความอดกลั้นต่อสิ่งที่ทำให้เดือดร้อน นางไม่ชอบบุรุษที่ทุจริตทั้งกาย วาจา และใจ เศรษฐีได้ฟังจึงกล่าวว่าอาสนะนี้เป็นที่เหมาะควรแก่นาง แล้วเชิญให้พักบนอาสนะนั้น ครั้นรุ่งเช้าสิริเทพธิดาจึงกลับไปยังสวรรค์และได้ลงสรงสนานในสระอโนดาตก่อนนางกาฬกัณณี อาสนะที่สิริเทพธิดานอนจึงได้ชื่อว่าสิริไสยา ซึ่งหมายถึงที่นอนอันเป็นมิ่งขวัญตราบเท่าทุกวันนี้