TLD-003-1478
ดาหา, ท้าว 1 (ชื่อตัวละคร)
ท้าวดาหาเป็นตัวละครในเรื่องดาหลัง เป็นกษัตริย์ครองกรุงดาหา*และเป็นวงศ์เทวาลำดับที่ 2 ต่อจากท้าวกุเรปัน* มีธิดา 2 องค์ คือ บุษบาก้าโละ*ซึ่งเกิดจากประไหมสุหรี และบุษบาวิลิศ*ซึ่งเกิดจากมะเดหวีมเหสีลำดับที่ 2 ท้าวกุเรปันพระเชษฐาขอบุษบาก้าโละตุนาหงัน (หมั้น) กับระเด่นมนตรี* หรืออิเหนาโอรสองค์ใหญ่ และขอตุนาหงันบุษบาวิลิศให้แก่จะหรังกะหนังโหละ*โอรสองค์เล็ก
เมื่อระเด่นมนตรีเจริญวัยสมควรแก่การวิวาห์ ท้าวกุเรปันจึงส่งสารถึงท้าวดาหาอนุชาเพื่อปรึกษาเรื่องการจัดพิธีแต่งงานระเด่นมนตรีกับนางบุษบาก้าโละตามธรรมเนียมของกษัตริย์วงศ์เทวา ท้าวดาหาทรงยินดีตอบสารว่าจะเตรียมการไว้ รออีก 3 เดือนจึงจัดงานอภิเษก ท้าวกุเรปันจึงสั่งให้ระเด่นมนตรีเตรียมการไปกรุงดาหา แต่ระเด่นมนตรีไม่ยอมสั่งการใด ๆ เพราะขณะนั้นได้ไปหลงรักหญิงชาวไร่ชื่อเกนบุษบาส่าหรี* และอยู่ร่วมกับนาง ท้าวดาหาไม่สบายพระทัยเมื่อรู้ว่าระเด่นมนตรีขัดคำสั่งท้าวกุเรปันเรื่องงานวิวาห์ถึง 3 ครั้ง และเมื่อหญิงชาวไร่ที่ระเด่นมนตรีไปหลงใหลถูกท้าวกุเรปันสังประหาร ระเด่นมนตรีก็ออกจากเมืองกุเรปันโดยไม่มีใครทราบว่าไปที่ใด ท้าวดาหาทั้งโกรธ เสียพระทัย และน้อยพระทัยจนต้องงดออกว่าราชการถึง 7 วัน และด้วยความแค้นระเด่นมนตรีที่ทอดทิ้งให้ธิดาต้องร้างการวิวาห์ จึงประกาศว่าถ้าใครมาสู่ขอนางบุษบาก้าโละก็จะยกให้โดยไม่คำนึงเรื่องศักดิ์ตระกูลอีกต่อไป
เมื่อปาเตะ*มาทูลว่ามีดาหลังจากต่างเมืองพากย์หนังได้จับใจ ท้าวดาหาก็สนพระทัย โปรดให้เข้ามาแสดงถวายในวัง ท้าวดาหา มเหสี ธิดา และนางกำนัลทั้งปวงก็พากันมาดู ทุกคนเพลิดเพลินและชื่นชมลีลาการพากย์หนังของดาหลัง ระหว่างที่ดาหลังอยู่ในเมืองดาหา ระตูปะตาหน*ส่งทูตมาทูลขอนางบุษบาก้าโละ ท้าวดาหาก็ยกให้ด้วยความแค้นระเด่นมนตรี ระตูปะตาหนเดินทางมาเพื่อจะเข้าพิธีวิวาห์ในกำหนดเวลาอีก 5 วัน นางบุษบาก้าโละตัดสินใจบอกดาหลังว่าอีก 5 วัน นางจะต้องแต่งงานกับระตูปะตาหน แต่นางไม่ปรารถนา ขอให้ดาหลังพานางหนีไป
ต่อมาดาหลังลอบกำบังกายเข้าไปในพลับพลาของระตูปะตาหน และฆ่าระตูปะตาหนด้วยกริชแล้วหนีออกมา อนุชาทั้งสองของระตูปะตาหนเสียใจและโกรธมากที่เชษฐาถูกฆ่า ทั้งสองคนคาดว่านางบุษบาก้าโละน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ นางคงจะมีคู่รักอยู่ก่อนแล้วคู่รักไม่พอใจจึงมาลอบฆ่าระตูปะตาหน ทั้งสองคนเข้าเฝ้าท้าวดาหา แจ้งเรื่องระตูปะตาหนเสียชีวิตและทูลขอให้นางบุษบาก้าโละเข้าพิธีแบหลา คือโจนเข้ากองไฟในพิธีเผาศพระตูปะตาหน โดยอ้างว่าต้องทำตามประเพณี ท้าวดาหาไม่พอพระทัยที่ระตูทั้งสองพูดเหมือนนางเป็นต้นเหตุ แต่ด้วยความไม่ทันคิดจึงยินยอมให้นางบุษบาก้าโละเข้าพิธีแบหลา เมื่อมาคิดได้ภายหลังก็เสียใจแต่ก็ยังไม่ยอมคืนคำด้วยมานะกษัตริย์ เพราะ “จะคืนคำก็จะเสียสัตยา ไตรโลกโลกาจะติได้” ด้วยความเสียใจ เสียดาย และสงสารธิดา ท้าวดาหาถึงแก่สลบไป และเมื่อประไหมสุหรีทราบก็เศร้าโศกจนสลบไปเช่นกัน บรรดามเหสีนางกำนัลทั้งหลายก็พากันร่ำไห้ด้วยความเศร้าโศก ท้าวดาหายิ่งรู้สึกผิดมากขึ้น แต่ยังคงยึดมั่นที่จะรักษาคำพูดอยู่เช่นเดิม เมื่อนางบุษบาก้าโละเข้ามาเฝ้าเพื่อทูลลาไปแบหลา ท้าวดาหาก็เศร้าโศกหนักขึ้น แต่ก็ยังมั่นคงในการรักษาคำพูดดังเดิม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory