กุททาลกบัณฑิตเป็นตัวละครในเรื่องกุททาลกชาดก เอกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัต*แห่งกรุงพาราณสี* พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติในตระกูลผู้ปลูกผักขาย เมื่อเจริญวัยรู้ความจึงได้ชื่อว่ากุททาลกบัณฑิต
ในฤดูฝนกุททาลกบัณฑิตใช้จอบพรวนดินปลูกพืชผักขายเลี้ยงชีพ อยู่มาวันหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายทางโลกจึงออกบวชเป็นดาบส ก่อนบวชก็เก็บจอบซึ่งกร่อนแล้วไว้ แต่เมื่อใดที่กุททาลกบัณฑิตนึกถึงจอบก็จะเกิดความโลภ จึงสึกออกมาปลูกพืชผักอีก กุททาลกบัณฑิตบวชๆ สึกๆ ถึง 6 ครั้ง จนกระทั่งสึกออกมาเป็นครั้งที่ 7 ก็คิดว่าจอบกร่อนเล่มนั้นเป็นเหตุให้ประพฤติเช่นนั้น จึงหลับตาขว้างจอบไปที่กลางแม่น้ำเพื่อมิให้สามารถไปงมจอบขึ้นมาอีก พร้อมกันนั้นก็ตะโกนขึ้น 3 ครั้งว่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว
ในขณะนั้นพระเจ้าพรหมทัตเสด็จกลับจากไปปราบข้าศึกมาถึงสระน้ำนั้น ได้ยินเสียงตะโกนของกุททาลกบัณฑิตก็รู้สึกระคายพระกรรณ จึงให้ราชบุรุษไปตามกุททาลกบัณฑิตมาเฝ้า ตรัสว่าพระองค์ทรงชนะสงครามกลับมา ส่วนกุททาลกบัณฑิตชนะใครจึงตะโกนเช่นนั้น กุททาลกบัณฑิตทูลว่าตนชนะใจตนเอง แม้พระเจ้าพรหมทัตจะชนะสงครามมานับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่อาจเทียบได้กับที่ตนชนะใจตนเองเพราะตนสามารถข่มกิเลสคือความโลภได้ จากนั้นกุททาลกบัณฑิตซึ่งบรรลุฌานสมาบัติก็ลอยขึ้นไปนั่งกลางอากาศแสดงธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัตว่า การที่พระเจ้าพรหมทัตชนะข้าศึก พระราชาฝ่ายข้าศึกก็อาจกลับรบชนะคืนได้ ความชนะนั้นจึงไม่เรียกว่าความชนะที่ทำประโยชน์ให้สำเร็จและไม่เรียกว่าเป็นความชนะที่ดีงาม แม้พระองค์จะทรงชนะสงครามถึงพันครั้งหรือแสนครั้งก็จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นจอมพลในสงคราม เพราะยังไม่สามารถชนะกิเลสของพระองค์เองได้ พระเจ้าพรหมทัตทรงฟังแล้วก็เกิดความเลื่อมใสตัดสินพระทัยตามกุททาลกบัณฑิตไปป่าหิมพานต์เพื่อทรงผนวช ฝ่ายเสนาอำมาตย์ก็ตามเสด็จออกบวช เมื่อมหาชนรู้ข่าวก็พากันออกบวชด้วยเป็นจำนวนมหาศาล เหตุครั้งนั้นร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงให้พระวิสุกรรมลงมาเนรมิตอาศรมในป่าหิมพานต์เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของบรรดาดาบส ต่อมาก็มีพระราชาอีก 7 พระองค์เสด็จออกผนวชตามกุททาลกบัณฑิตอีกด้วย เมื่อสิ้นชีวิตดาบสซึ่งบรรลุฌานสมาบัติและเจริญพรหมวิหาร 4 เหล่านั้นก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ส่วนประชาชนที่มาเฝ้าปรนนิบัติรับใช้ดาบสทั้งหลายต่างก็ได้ไปเกิดในเทวโลก