TLD-003-1805
ถูลกุมาริกา (ชื่อตัวละคร)
จุลลนารทกัสสปชาดก นิบาตชาดก
ถูลกุมาริกา (แปลว่านางผู้มีร่างกายอ้วนหรือนางซึ่งหนาไปด้วยกามคุณทั้งห้า) เป็นตัวละครในเรื่องจุลลนารทกัสสปชาดก เตรสกนิบาต ในนิบาตชาดก
ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ผู้มั่งคั่งในแคว้นกาสิกรัฐ เป็นผู้รอบรู้ในศิลปศาสตร์ ต่อมาภรรยาพราหมณ์พระโพธิสัตว์คลอดบุตรชายแล้วก็สิ้นชีวิต พราหมณ์พระโพธิสัตว์เห็นความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต จึงพาบุตรออกบวชเป็นดาบสในป่าหิมพานต์ บำเพ็ญพรตจนได้ฌานอภิญญาและสมาบัติ
ต่อมามีพวกโจรจากปัจจันตประเทศเข้าไปปล้นหมู่บ้านในชนบท กวาดต้อนทรัพย์สินและจับเชลยกลับไปยังหมู่บ้านของตน นางถูลกุมาริกาหญิงรูปงามผู้มีปัญญาในทางชั่วร้ายคนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปด้วย นางเกรงว่าจะต้องไปเป็นทาส จึงออกอุบายหลอกโจรจนสามารถหลบหนีไปได้ นางถูลกุมาริกาเดินทางไปถึงอาศรมของดาบสพระโพธิสัตว์และดาบสกุมาร
ขณะนั้นดาบสพระโพธิสัตว์ไปเก็บผลไม้ในป่า มีแต่ดาบสกุมารอยู่ในอาศรม นางถูลกุมาริกาพอใจดาบสกุมารจึงได้อยู่ร่วมกัน นางชวนดาบสกุมารออกจากป่าไปอยู่บ้านของตน ดาบสกุมารขอให้รอดาบสบิดากลับมาก่อน นางถูลกุมาริกาคิดว่าถ้าดาบสบิดากลับมาตนจะถูกลงโทษโบยตีและขับไล่ จึงบอกกับดาบสกุมารว่านางจะเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ให้ดาบสกุมารตามไปภายหลัง แล้วแสดงเครื่องหมายตามเส้นทางที่จะไป
ฝ่ายดาบสกุมารเมื่อนางถูลกุมาริกาจากไปก็ได้แต่เศร้าโศกเสียใจ ไม่เป็นอันทำวัตรปฏิบัติดังเคย เมื่อดาบสพระโพธิสัตว์กลับจากป่าเห็นอาการของบุตรก็ถามถึงสาเหตุ ดาบสกุมารบอกว่าตนอยากออกจากป่าไปอยู่เมือง ขอให้ดาบสพระโพธิสัตว์แนะนำการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ดาบสพระโพธิสัตว์จึงเทศนาข้อควรปฏิบัติต่างๆ เช่น อย่าเสพสิ่งของเป็นพิษคือสุรา อย่าพาตนไปอยู่ห้วงเหวคือสตรี อย่าลุ่มหลงในเปือกตมคือลาภ ยศ สรรเสริญ และเครื่องสักการะ อย่าอยู่ใกล้อสรพิษคือพระราชา ฯลฯ เมื่อดาบสกุมารได้ฟังคำสอนก็ได้สติ เห็นว่าตนไม่ควรจะไปมีชีวิตในสังคมมนุษย์ ดาบสพระโพธิสัตว์จึงสอนให้ดาบสกุมารเจริญภาวนา ในที่สุดก็ได้ฌานและอภิญญาสมาบัติ เมื่อสิ้นชีวิตดาบสทั้งสองก็ไปเกิดในพรหมโลก
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory