TLD-003-1811
ทธิวาหนะ, พระเจ้า (ชื่อตัวละคร)
ทธิวาหนชาดก นิบาตชาดก
พระเจ้าทธิวาหนะเป็นตัวละครในเรื่องทธิวาหนชาดก ทุกนิบาต ในนิบาตชาดก ใ
นแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสี มีพราหมณ์พี่น้อง 4 คน ออกบวชเป็นฤๅษีในป่าหิมพานต์ สร้างศาลาเรียงกันอยู่ ต่อมาฤๅษีพี่ชายใหญ่สิ้นชีวิตไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) เมื่อพิจารณาเห็นอดีตชาติแล้วท้าวสักกะก็ลงมาอุปปัฏฐากฤๅษี 3 ตน 7 – 8 วัน ครั้งหนึ่งเสมอ
วันหนึ่งท้าวสักกะถามฤๅษีตนที่ 1 ว่าประสงค์อะไรบ้าง ฤๅษีตนนั้นเป็นโรคผอมเหลืองได้ตอบท้าวสักกะว่าต้องการไฟ ท้าวสักกะประทานพร้าให้เล่มหนึ่ง เมื่อเอามือตบพร้า พร้าก็จะไปตัดฟืนมาติดไฟให้
ท้าวสักกะถามฤๅษีตนที่ 2 ว่าปรารถนาสิ่งใดบ้าง ฤๅษีตอบว่าใกล้อาศรมเป็นทางเดินของโขลงช้าง เหล่าช้างจะเดินผ่านมาและถ่ายมูลเปรอะเปื้อน ทั้งยังทำทางเดินให้เป็นหลุม ฤๅษีต้องลำบากกวาดมูลช้างและเกลี่ยดินให้เสมอกัน ท้าวสักกะประทานกลองใบหนึ่ง เมื่อตีหน้าหนึ่งข้าศึกศัตรูจะหนีไป ถ้าตีอีกหน้าหนึ่งข้าศึกจะมีใจเมตตามาแวดล้อมพร้อมด้วยจตุรงคเสนา
ท้าวสักกะถามฤๅษีน้องสุดท้องว่าประสงค์สิ่งใด ฤๅษีตนนี้ก็เป็นโรคผอมเหลืองจึงตอบว่าต้องการทธิ (นมเปรี้ยว) ท้าวสักกะก็ประทานหม้อทธิ ถ้าพระฤๅษีต้องการทธิเมื่อใดก็ให้เทจากหม้อนี้ และหม้อนี้ยังสามารถเททธิได้ไม่สิ้นสุดจนกลายเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลไปท่วมข้าศึกได้ แล้วท้าวสักกะก็กลับไปสู่สวรรค์ ฤๅษีทั้ง 3 ตนใช้ประโยชน์จากของ 3 สิ่งที่ได้รับนั้นสืบมา
สุกรตัวหนึ่งเที่ยวไปในบ้านร้างแห่งหนึ่งได้พบแก้วมณีวิเศษจึงคาบแก้วนั้น แก้วมณีทำให้สุกรเหาะได้และพาเหาะไปจนถึงเกาะกลางสมุทร สุกรเหาะลงที่เกาะนั้นแล้วนอนใต้ต้นมะเดื่ออย่างมีความสุข วางแก้วมณีวิเศษไว้ข้างหน้าตน บุรุษผู้หนึ่งไม่ช่วยอุปการะบิดามารดาจึงถูกบิดามารดาไล่ออกจากบ้าน บุรุษนั้นไปรับจ้างนายสำเภา ลงเรือไปกลางทะเล เมื่อเรือแตกก็เกาะแผ่นกระดานลอยไปถึงเกาะแห่งนั้น เห็นสุกรนอนหลับใต้ต้นมะเดื่อก็หยิบแก้วมณีไป บุรุษนั้นจึงเหาะได้ ขึ้นไปนั่งบนต้นมะเดื่อ แล้วทิ้งกิ่งไม้ลงมาถูกสุกร สุกรตื่นขึ้นไม่เห็นแก้วมณีก็ตกใจวิ่งวุ่นไปมา บุรุษนั้นจึงหัวเราะ สุกรแหงนขึ้นดูก็เสียใจ เอาหัวชนต้นมะเดื่อตาย
บุรุษนั้นปิ้งเนื้อสุกรกินแล้วเหาะไปเที่ยวถึงป่าหิมพานต์ พบฤๅษีตนที่ 1 ก็เข้าไปปรนนิบัติ และสังเกตเห็นพร้าวิเศษตัดฟืนได้ตามสั่ง จึงขอแลกแก้วมณีกับพร้า ฤๅษีอยากเหาะได้ก็ยอมแลก บุรุษนั้นได้พร้าแล้วก็เอามือตบพร้าสั่งให้ไปตัดศีรษะฤๅษี เมื่อฤๅษีตายแล้วบุรุษนั้นก็ได้แก้วมณีคืนมา เมื่อเห็นกลองวิเศษของฤๅษีตนที่ 2 ก็ใช้พร้าไปตัดคอฤๅษีได้กลองมา แล้วบุรุษนั้นก็ใช้พร้าไปตัดศีรษะฤๅษีน้องสุดท้องได้หม้อทธิมา รวมแล้วบุรุษนั้นได้ของวิเศษ 4 สิ่ง คือ แก้วมณี พร้า กลอง และหม้อทธิ แล้วก็เหาะไปลงใกล้เมืองพาราณสี เขียนหนังสือให้คนส่งเข้าไปถึงพระเจ้ากรุงพาราณสีให้ออกมาสู้รบหรือไม่ก็ยอมแพ้ พระเจ้ากรุงพาราณสีให้ยกกองทัพออกไปทำสงคราม บุรุษนั้นตีกลองขึ้น เหล่าเสนาก็มาแวดล้อมเป็นมิตร บุรุษนั้นเทหม้อทธิจนเกิดเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลท่วมกองทัพ แล้วสั่งพร้าให้ไปตัดเศียรพระเจ้ากรุงพาราณสีมาวางไว้ให้ตามคำสั่ง หลังจากนั้นก็ขึ้นครองราชสมบัติในเมืองพาราณสีโดยทศพิธราชธรรม มีชื่อว่าพระเจ้าทธิวาหนะ
วันหนึ่งพระเจ้าทธิวาหนะลงสรง มีตาข่ายกั้น 4 ด้าน มะม่วงผลหนึ่งเป็นของบริโภคของเทพยดาลอยมาจากสระชื่อกัณณมุณฑะมาติดข่าย มะม่วงนี้ผลใหญ่เท่าหม้อ สีงามเหมือนทองคำ เมื่อเสวยเนื้อมะม่วงแล้วตรัสสั่งให้นำเมล็ดไปเพาะและปลูกไว้ในอุทยาน รดด้วยน้ำเจือนมสด เจิมด้วยของหอม แขวนพวงดอกไม้ ตามประทีปน้ำมันหอม วงด้วยม่านอันวิจิตร ปีที่ 3 ก็มีดอก มีผลหวานอร่อย พระเจ้าทธิวาหนะส่งผลมะม่วงไปถวายพระราชาเมืองอื่นๆ แต่ทรงสั่งให้ใช้เงี่ยงกระเบนเจาะทำลายเมล็ดเสียก่อน เมื่อนำเมล็ดไปปลูกจึงไม่ขึ้น แต่มีพระราชาเมืองหนึ่งรู้เท่าทัน จึงสั่งให้นายอุทยานของตนไปทำให้ผลมะม่วงหวานนั้นกลับมีรสขม นายอุทยานไปเข้าเฝ้าพระเจ้าทธิวาหนะขอสมัครเป็นคนรักษาสวนคู่กับคนเดิม พระราชาก็ทรงยอม นายอุทยานคนใหม่ทำนุบำรุงอุทยานจนสวยงามกว่าเก่า ทำให้ต้นไม้ดอกไม้มีดอกผลนอกฤดูกาล พระเจ้าทธิวาหนะจึงสั่งให้ปลดนายอุทยานคนเก่าแล้วให้คนใหม่ทำแทน นายอุทยานคนใหม่ได้โอกาส ก็ปลูกสะเดาและบอระเพ็ดล้อมต้นมะม่วงนั้น จนในที่สุดรสหวานของผลมะม่วงก็เปลี่ยนไปเป็นขมจัด เมื่อทำการสำเร็จแล้วนายอุทยานก็หนีกลับไป พระเจ้าทธิวาหนะเสด็จอุทยาน เมื่อเสวยผลมะม่วงก็ถ่มทิ้งทันที
ในเวลานั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ผู้ถวายอรรถธรรมของพระเจ้าทธิวาหนะ พระเจ้าทธิวาหนะตรัสถามอำมาตย์โพธิสัตว์ถึงสาเหตุที่ผลมะม่วงทองมีรสขม อำมาตย์โพธิสัตว์อธิบายว่า เป็นเพราะต้นมะม่วงมีต้นสะเดาล้อมรอบ รากต่อรากระคนกัน กิ่งต่อกิ่งเกี่ยวพันกันจึงทำให้ผลมะม่วงมีรสขม พระเจ้าทธิวาหนะทรงสั่งให้ตัดต้นสะเดาและบอระเพ็ด ขุดทำลายถึงราก ให้โกยดินไม่ดีออกหมด ขนเอาดินดีมาใส่แทน แล้วรดด้วยน้ำเจือนมสดและน้ำตาลกรวดและน้ำหอมต่างๆ จนผลมะม่วงมีรสหวานอร่อยอย่างเดิม แล้วทรงให้นายอุทยานคนเก่ากลับมาทำงานดังเดิม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory