พระเจ้ากรกัณฑ์เป็นตัวละครในเรื่องกุมภการชาดก สัตตกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระราชาเมืองทันตปุระ* แคว้นกลิงคราฐ*
ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติในตระกูลช่างปั้นหม้อ อาศัยอยู่ในตำบลบ้านใกล้ประตูเมืองพาราณสี เมื่อเจริญวัยประกอบอาชีพปั้นหม้อขายจนมีทรัพย์สมบัติ ช่างปั้นหม้อมีภรรยาคนหนึ่งและมีบุตรธิดาอย่างละคน
ครั้งนั้นพระเจ้ากรกัณฑ์ทรงช้างต้นประพาสอุทยาน ทรงเก็บผลมะม่วงพวงหนึ่งประทานแก่ข้าราชบริพารแล้วจึงเสวยเอง ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายเข้าใจว่านอกจากพระราชาแล้วใครๆ อาจเก็บผลมะม่วงได้ ก็พากันไปเขย่าต้นมะม่วงให้ผลหล่น บ้างก็สอย บ้างก็ปีนต้น บ้างก็ขว้างปาด้วยไม้หรือก้อนดิน ในที่สุดแม้ผลดิบๆ ก็ไม่เหลือ ครั้นพระเจ้ากรกัณฑ์ประพาสอุทยานอีกครั้งหนึ่งในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงมีกิ่งก้านหักยับปราศจากผลก็พิจารณาว่าเมื่อเช้าต้นมะม่วงยังเขียวชอุ่มมีผลดกงดงามน่าชม บัดนี้มีผู้ทำลายให้หักย่อยยับเก็บเอาผลไปเสียหมดดูไม่งดงาม เมื่อทอดพระเนตรต้นมะม่วงต้นอื่นที่ไม่มีผลยังมีกิ่งก้านสมบูรณ์อยู่ จึงดำริว่าต้นมะม่วงที่งดงามอยู่ได้เพราะเป็นไม้ไม่มีผล แต่ต้นที่ทรุดโทรมพินาศเพราะมีผล ราชสมบัติก็เหมือนกับต้นมะม่วงที่มีผล การบรรพชาเหมือนกับต้นมะม่วงที่ไม่มีผล ขณะที่ยืนใต้ต้นมะม่วงนั้นพระเจ้ากรกัณฑ์กำหนดพิจารณาไตรลักษณญาณเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้ปัจเจกพุทธญาณเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พระองค์ยกพระหัตถ์ขึ้นลูบพระเศียร เพศคฤหัสถ์ก็กลายเป็นสมณเพศ ทรงผ้ากาสาวพัสตร์พร้อมอัฏฐบริขารเหาะไปประทับที่เขานันทมูลกะในป่าหิมพานต์
ในเวลานั้นพระราชาองค์หนึ่งนามว่านัคคฏี* ครองเมืองตักสิลา*ในแคว้นคันธารราฐ* พระองค์ประทับราชอาสน์ในปราสาท ทอดพระเนตรเห็นหญิงผู้หนึ่งสวมกำไลข้อมือแก้วมณีข้างละอันนั่งบดเครื่องหอมอยู่ พระราชาดำริว่ากำไลไม่กระทบกันให้เกิดเสียงดังเพราะอยู่คนละข้าง ต่อมาหญิงผู้นั้นถอดกำไลข้อมือขวารวมกับข้างข้อมือซ้ายและใช้มือบดเครื่องหอม กำไลก็กระทบกันเสียงดังขึ้น พระเจ้านัคคฏีดำริว่ากำไลนี้เมื่ออยู่ต่างที่กันย่อมไม่เกิดเสียง ต่อเมื่อรวมกันและกระทบกันจึงเกิดเสียงได้ เช่นเดียวกับสรรพสัตว์ถ้าต่างคนต่างอยู่คงไม่ทะเลาะวิวาทกัน การปกครองหมู่ชนย่อมทำให้เกิดความทุกข์กังวล ยากที่จะระงับภยันตรายและเลี่ยงให้พ้นศัตรูได้ พระเจ้านัคคฏีกำหนดถือเอากำไลที่กระทบกันเสียงดังนั้นเป็นอารมณ์ พิจารณาไตรลักษณญาณเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้ปัจเจกญาณเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เหาะไปประทับที่เขานันทมูลกะในป่าหิมพานต์
ครั้งนั้นพระราชาองค์หนึ่งนามว่าเนมิราช* ครองราชสมบัติเมืองมิถิลา* แคว้นวิเทหะ* วันหนึ่งพระองค์เสวยกระยาหารเช้าแล้วประทับที่พระแกลพร้อมบริวาร เหยี่ยวตัวหนึ่งคาบชิ้นเนื้อที่ใช้เลี้ยงสุนัขบินหนีไป มีหมู่นกเป็นต้นว่าแร้งและกาบินตามรุมล้อมจิกตีแย่งชิ้นเนื้อนั้น เหยี่ยวทนเจ็บไม่ได้ก็ปล่อยชิ้นเนื้อให้นกตัวอื่นคาบไป นกตัวที่ไม่ได้ชิ้นเนื้อก็ตามจิกตีแย่งต่อๆ ไปอีก พระเจ้าเนมิราชดำริว่าบุคคลที่ยังถือมั่นกามคุณ 5 เหมือนนกที่คาบชิ้นเนื้อย่อมมีทุกข์ภัยอันใหญ่หลวง ผู้ละความยินดีในกามคุณเหมือนนกที่ละชิ้นเนื้อแล้วย่อมมีความสุข พระองค์กำหนดถือพระไตรลักษณ์มาพิจารณาเป็นอารมณ์แล้วเจริญวิปัสสนาจนสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และเหาะไปประทับที่เขานันทมูลกะในป่าหิมพานต์
พระราชาอีกองค์หนึ่งนามว่าทุมมุขะ* ครองราชสมบัติเมืองกบิลนคร*แคว้นอุตตรปัญจาล* วันหนึ่งเสวยกระยาหารเช้าแล้วประทับที่สีหบัญชรทอดพระเนตรพระลานหลวง คนเลี้ยงโคเปิดประตูคอกปล่อยโคออกไปหากิน โคตัวผู้ทั้งหลายพากันวิ่งตามโคตัวเมียตัวหนึ่งไป โคตัวผู้ตัวหนึ่งเข้าใกล้นางโคและถูกโคตัวผู้อีกตัวหนึ่งขวิดตายด้วยความหวงแหน พระเจ้าทุมมุขะดำริว่าแม้สัตว์เดรัจฉานก็มีทุกข์ภัยได้เพราะอำนาจกิเลส พระองค์ทรงกำหนดถือพระไตรลักษณ์มาพิจารณาเป็นอารมณ์ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเหาะไปประทับที่เขานันทมูลกะในป่าหิมพานต์
ต่อมาวันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์เสด็จบิณฑบาตที่หมู่บ้านใกล้ประตูเมืองพาราณสี ช่างปั้นหม้อโพธิสัตว์เห็นก็เกิดความเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้เข้าไปในเรือนตน ถวายภัตตาหารอันประณีตแล้วถามว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสี่พิจารณาสิ่งใดเป็นอารมณ์จึงได้ออกบรรพชา ครั้นได้ฟังเหตุแล้วช่างปั้นหม้อก็เบื่อหน่ายในเพศฆราวาส วันหนึ่งเรียกภรรยามาสั่งให้ดูแลบ้านเรือนและบุตรเพื่อที่ตนจะออกบวช ภรรยาช่างปั้นหม้อเมื่อได้ฟังธรรมกถาของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วก็คิดจะละเพศฆราวาสเช่นกันและคิดหนีไปบวชก่อน นางลวงสามีว่าจะไปตักน้ำที่ท่าแล้วหนีไปบวชในสำนักพระดาบส ช่างปั้นหม้อจึงต้องอยู่เลี้ยงบุตร 2 คนต่อไป เมื่อบุตรเติบโตขึ้นช่างปั้นหม้อทดสอบว่าบุตรสามารถเลี้ยงดูตนเองได้แล้วก็ออกบวชเป็นฤๅษีจนได้ฌานอภิญญาสมาบัติ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ไปบังเกิดในพรหมโลก