TLD-003-1975
ธนัญชยโกรพย์, พระเจ้า (ชื่อตัวละคร)
กุรุธรรมชาดก นิบาตชาดก
พระเจ้าธนัญชยโกรพย์เป็นตัวละครในเรื่องกุรุธรรมชาดก ติกนิบาต ในนิบาตชาดก
ครั้งเมื่อพระเจ้าธนัญชยโกรพย์ครองราชสมบัติ ณ อินทปัตมหานคร* อันเป็นอาณาจักรแห่งกุรุรัฐ* พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระโอรส เมื่อเจริญวัยก็ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ ณ เมืองตักสิลา ศึกษาสำเร็จแล้วก็กลับบ้านเมือง พระบิดาตั้งให้เป็นอุปราช
ครั้นพระบิดาสิ้นพระชนม์ก็ได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าธนัญชยโกรพย์ต่อมา ทรงปกครองบ้านเมืองโดยทศพิธราชธรรม ทรงรักษากุรุธรรมคือศีลห้าให้บริสุทธิ์สะอาด และนอกจากพระองค์แล้วยังมีคนอื่นอีก 10 คนในเมืองกุรุราษฎร์ที่รักษากุรุธรรมให้บริสุทธิ์เช่นกันคือ พระราชมารดา พระอัครมเหสี พระอุปราช พราหมณ์ปุโรหิต อำมาตย์ผู้รังวัดนา นายสารถี มหาเศรษฐี อำมาตย์ผู้ตวงข้าวค่านา บุรุษผู้รักษาประตูพระนคร และนางนครโสภิณี พระเจ้าธนัญชยโกรพย์โปรดให้สร้างโรงทานบริจาคทานวันละ 600,000 กหาปณะทุกวัน ประชาชนจึงพากันมารับทาน ไม่ทำไร่ไถนา จนพื้นดินสูงขึ้นโดยลำดับ
ในเมืองทันตบุรี* อาณาจักรกลิงครัฐ*มีพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้ากาลิงคราช* ครั้งนั้นเกิดภาวะฝนแล้ง โรคร้ายเบียดเบียนราษฎรล้มตาย ข้าวยากหมากแพง ราษฎรทั้งหลายพากันไปร้องทุกข์หน้าประตูวัง พระเจ้ากาลิงคราชตรัสถามว่าตามประเพณีโบราณเมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลพระราชาทำอย่างไร เมื่อราษฎรทูลว่าพระราชาทรงบริจาคทาน รักษาอุโบสถศีลเป็นเวลา 7 วัน พระเจ้ากาลิงคราชก็ทรงประพฤติตามแต่ฝนก็ยังไม่ตก ทรงปรึกษาเหล่าอำมาตย์ อำมาตย์ทั้งหลายทูลว่า พระเจ้าธนัญชยโกรพย์แห่งเมืองอินทปัตทรงมีเศวตกุญชรเป็นช้างพระที่นั่ง ถ้าได้ช้างนี้มาฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล พระเจ้าธนัญชยโกรพย์นั้นทรงยินดีในการบริจาคทานยิ่ง ย่อมจะประทานให้ถ้ามีผู้ไปทูลขอ
พระเจ้ากาลิงคราชจึงให้พราหมณ์ผู้มีปัญญา 8 คนเดินทางไปทูลขอมงคลหัตถีตามคำแนะนำของเหล่าอำมาตย์ เมื่อพวกพราหมณ์รู้จากชาวเมืองว่าพระเจ้าธนัญชยโกรพย์จะเสด็จออกบริจาคทานในวันเพ็ญ 15 ค่ำคือในวันรุ่งขึ้นก็ยินดี รุ่งเช้าจึงไปคอยเฝ้าที่หน้าประตูเมือง ฝ่ายพระเจ้าธนัญชยโกรพย์เมื่อถึงเวลาก็ทรงช้างพระที่นั่งออกบริจาคทาน พราหมณ์ทั้งแปดสบโอกาสก็ทูลขอช้างพระที่นั่งเพื่อนำไปถวายพระเจ้ากาลิงคราช พระเจ้าธนัญชยโกรพย์ก็ประทานให้ แต่เมื่อพราหมณ์นำช้างพระที่นั่งไปยังเมืองทันตบุรีแล้ว ฝนก็ยังไม่ตก
พระเจ้ากาลิงคราชตรัสถามเหล่าอำมาตย์ อำมาตย์ทั้งหลายทูลว่าพระเจ้าธนัญชยโกรพย์นั้นทรงรักษากุรุธรรมอย่างเคร่งครัด ด้วยอำนาจแห่งกุรุธรรมบันดาลให้ฝนตกในกุรุรัฐ 15 วันต่อครั้งอย่างสม่ำเสมอ ควรนำช้างพระที่นั่งซึ่งเป็นเพียงสัตว์เดรัจฉานไปถวายคืนพระเจ้าธนัญชยโกรพย์ แล้วทูลขอกุรุธรรมจารึกลงในสุพรรณบัฏเพื่อนำมาทรงปฏิบัติ ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล พระเจ้ากาลิงคราชได้สดับก็ทรงเห็นชอบด้วยทุกประการ เมื่อพราหมณ์และอำมาตย์ผู้เป็นทูตานุทูตนำช้างพระที่นั่งรวมทั้งฝูงชนและข้าราชบริพารไปถวายคืนพระเจ้าธนัญชยโกรพย์แล้วก็ทูลขอกุรุธรรมจากพระราชาและจากบุคคลทั้ง 10 ที่ตั้งอยู่ในกุรุธรรมอยู่เป็นนิตย์ แล้วจารึกลงในสุพรรณบัฏ
จากนั้นก็กลับเมืองทันตบุรีถวายสุพรรณบัฏแด่พระเจ้ากาลิงคราช ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้ากาลิงคราชทรงดำรงอยู่ในกุรุธรรมปฏิบัติ บำเพ็ญและสมาทานเบญจศีลเป็นประจำ ฝนก็ตกในกาลิงครัฐ ส่วนกุรุรัฐของพระเจ้าธนัญชยโกรพย์นั้นอุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทั่วประเทศสุขสงบปราศจากอุปัทวทุกข์ทุพภิกขภัย พระเจ้าธนัญชยโกรพย์ทรงบำเพ็ญกุศลมีทานและศีลเป็นต้น เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ไปเกิดในเทวโลกพร้อมทั้งข้าราชบริพาร
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory