TLD-003-2056
นฬินิกา (ชื่อตัวละคร)
นฬินิกาชาดก นิบาตชาดก
นฬินิกาเป็นตัวละครในเรื่องนฬินิกาชาดก ปัญญาสนิบาต ในนิบาตชาดก
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาศิลปศาสตร์แล้วออกบวชในหิมวันตประเทศ ได้ฌานและอภิญญา บริเวณอาศรมของพระฤๅษีโพธิสัตว์มีนางเนื้อตัวหนึ่งตกลูกเป็นมนุษย์ผู้ชาย พระฤๅษีรักเหมือนบุตรให้ชื่อว่าอิสิสิงค์* เมื่อเจริญวัยให้บวชเป็นฤๅษี ไม่นานก็ได้ฌานอภิญญา มีตบะแก่กล้า ด้วยเดชแห่งศีลของพระฤๅษีอิสิสิงค์ทำให้พิภพของท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) หวั่นไหว ท้าวสักกะดำริจะทำลายตบะของพระฤๅษีจึงทรงห้ามฝนไม่ให้ตกในกาสิกรัฐนานถึง 3 ปี ประชาชนเดือดร้อนก็พากันไปเฝ้าพระราชา พระเจ้าพรหมทัตทรงรักษาศีลอุโบสถแต่ฝนก็ไม่ตก
ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาที่ห้องบรรทมของพระเจ้าพรหมทัต แนะนำวิธีทำลายตบะของพระฤๅษีโดยให้ส่งธิดานฬินิกาไปทำหน้าที่นี้ นางนฬินิกาเดินทางไปยังป่าหิมวันต์พร้อมพรานนำทางจนถึงอาศรมของฤๅษีอิสิสิงค์ เวลานั้นพระฤๅษีโพธิสัตว์ผู้เป็นบิดาได้ออกไปป่าเพื่อหาผลไม้ เหลือฤๅษีอิสิสิงค์อยู่ตามลำพัง นางนฬินิกาแต่งกายคล้ายฤๅษีโดยใช้ผ้ากรองและผ้าทรง มีเครื่องประดับงดงาม นางเล่นลูกขลุบเข้าไปใกล้อาศรม ฤๅษีอิสิสิงค์ตกใจกลัว แต่เมื่อเห็นมาณพน้อยรูปงามเล่นลูกขลุบอยู่ก็เข้าไปถามเพราะไม่รู้จักลูกขลุบ นางนฬินิกาตอบว่าลูกขลุบที่เล่นอยู่เป็นผลไม้ที่มีต้นอยู่ใกล้อาศรมของนางที่ภูเขาคันธมาทน์ ฤๅษีอิสิสิงค์เชื่อนางและคิดว่าเป็นดาบสจึงเชิญนางเข้านั่งพักในอาศรม นางลวงว่าขณะเดินทางมา พบหมีใหญ่ตัวหนึ่ง นางขว้างหมีด้วยก้อนดิน หมีวิ่งไล่กัดนาง นางขอให้ฤๅษีช่วยรักษาแผลโดยการสัมผัสตัวนาง พระฤๅษีไม่รู้จักสตรี ไม่รู้ว่าจะทำให้ศีลขาดฌานเสื่อม จึงได้ร่วมอภิรมย์กับนางนฬินิกา ศีลก็ขาด ฌานก็เสื่อมลงทันที นางเกรงว่าพระฤๅษีผู้บิดาจะกลับมาจากหาผลไม้ เมื่อเห็นนางก็ต้องรู้ว่าเป็นสตรี และคงจะลงโทษนาง นางนฬินิกาจึงรีบลากลับไปถึงค่ายหลวงที่เหล่าอำมาตย์รออยู่ แล้วพานางกลับกรุงพาราณสี
ท้าวสักกเทวราชมีความชื่นบานจึงดลบันดาลให้ฝนตกทั่วราชอาณาจักร บ้านเมืองก็กลับอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ฝ่ายฤๅษีอิสิสิงค์ เมื่อนางนฬินิกาจากไปแล้วก็มีแต่ความเร่าร้อน กายสั่นไหว นอนคลุมผ้าเปลือกไม้โศกเศร้าอยู่ในศาลา ฟืนไม่ได้ตัด น้ำไม่ได้ตัก ไฟไม่ได้ติด เมื่อพระฤๅษีโพธิสัตว์ผู้เป็นบิดากลับมาในตอนเย็น เห็นบุตรมีอาการแปลกไปก็ไต่ถาม อิสิสิงค์เล่าให้ฟังโดยรำพึงรำพันพร่ำเพ้อถึงมาณพรูปงามผุดผ่องที่แวะเข้ามาในอาศรม พรรณนาถึงรูปพรรณและกลิ่นหอมของมาณพผู้นั้น รวมทั้งส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ตนไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก และกล่าวถึงความอภิรมย์ที่ได้จากมาณพนั้น พระฤๅษีโพธิสัตว์สั่งสอนบุตรว่าบุคคลผู้เป็นพรหมจารีไปเกี่ยวข้องกับผีภูตทั้งหลายย่อมถึงความพินาศ ฤๅษีอิสิสิงค์เกิดความกลัวจับใจเพราะคิดว่านางนฬินิกาเป็นยักขินีจึงขอขมาบิดา พระฤๅษีโพธิสัตว์ปลอบบุตรแล้วสอนให้เจริญพรหมวิหารภาวนา ฤๅษีอิสิสิงค์ก็สามารถกระทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้นตามเดิม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory