TLD-003-2701
พรหมทัต, พระเจ้า 71 (ชื่อตัวละคร)
ราโชวาทชาดก 1 นิบาตชาดก
พระเจ้าพรหมทัตเป็นตัวละครในเรื่องราโชวาทชาดก ทุกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นกษัตริย์ครองเมืองพาราณสี
พระเจ้าพรหมทัตทรงปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ไม่มีพระทัยเป็นอคติ 4 ประการ ทรงตัดสินคดีความโดยยุติธรรม เมื่อพระราชาทรงครองราชย์โดยเที่ยงธรรมเช่นนี้ เสนาอำมาตย์ทั้งปวงก็ปฏิบัติตาม พิพากษาคดีความโดยไม่ลำเอียง ประชาราษฎร์ก็เลี้ยงชีพโดยสุจริตไม่ก่อเหตุคดีความใดๆ ไม่มีเรื่องราวร้องทุกข์อีกเด็ดขาด เหล่าตุลาการไปนั่งศาลก็ไม่มีคดีจะไต่สวนพิพากษาก็กลับบ้านโดยไม่มีความใดๆ ในที่สุดศาลก็ต้องทิ้งร้าง
พระเจ้าพรหมทัตโพธิสัตว์ทรงเห็นว่าบ้านเมืองสงบร่มเย็นไม่มีการร้องเรียน แต่สำหรับพระองค์เองนั้นจะมีเรื่องอะไรที่เป็นโทษบ้างหรือไม่ จะได้ทรงแก้ไขให้เป็นคุณ ทรงสดับตรับฟังสังเกตหมู่ข้าราชบริพารก็ไม่เห็นใครกล่าวโทษ ทรงออกไปสังเกตพนักงานชั้นนอกๆ ออกไป รวมทั้งหมู่ประชาชนทั้งในและนอกพระนคร หมู่บ้านต่างๆ ด่านประตูเมืองทั้ง 4 ทิศก็ไม่มีใครกล่าวโทษของพระองค์ มีแต่กล่าวถึงคุณความดีทั้งสิ้น พระองค์เสด็จไปกับนายสารถีเพียง 2 คน ไปที่ปัจจันตชนบท ปลอมพระองค์เป็นคนธรรมดาไม่ให้ใครรู้จักจนถึงปัจจันตภูมิสุดเขตแดนก็ไม่ได้ยินใครกล่าวโทษ มีแต่ผู้กล่าวถึงคุณความดี จึงทรงกลับรถจะเข้าพระนคร
ครั้งนั้นมีพระราชาแห่งแคว้นโกศล*ทรงนามว่าพระเจ้าพัลลึก* ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข พระเจ้าพัลลึกทรงใคร่จะทราบว่ามีใครกล่าวโทษของพระองค์บ้างจึงปลอมองค์ออกเที่ยวไปกับนายสารถีจนถึงปัจจันตชนบท แต่ก็ไม่มีใครกล่าวโทษ พระองค์จึงเสด็จกลับ รถของพระเจ้าพัลลึกมาพบกับรถของพระเจ้าพรหมทัตที่ทางเกวียนแห่งหนึ่ง รถแล่นได้คันเดียว สารถีของรถทั้ง 2 คันจึงเถียงกันว่าเจ้านายของใครจะได้ไปก่อน สารถีของพระเจ้าพัลลึกอ้างว่าเจ้านายตนเป็นพระราชาแคว้นโกศลผู้ยิ่งใหญ่จึงต้องได้ไปก่อน สารถีของพระเจ้าพรหมทัตก็อ้างว่าเจ้านายตนเป็นพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสีซึ่งยิ่งใหญ่กว่าจึงต้องไปก่อน
ในที่สุดสารถีทั้ง 2 ฝ่ายก็พากันกล่าวเปรียบเทียบศีลาจารคุณที่พระราชาทั้ง 2 ฝ่ายประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นปกติ สารถีของพระเจ้าโกศลกล่าวว่า พระราชาของตนนั้นเมื่อผู้ใดมีทิฐิมานะแข็งขืนต่อพระองค์ พระองค์ก็มีทิฐิมานะกล้าแข็งตอบ ถ้าใครอ่อนมาก็ทรงอ่อนโยนตอบ เป็นต้น แล้วแต่ว่าจะทรงเห็นอุบายใดที่เหมาะสมและให้ได้ชัยชนะแก่ชนทั้งปวง
ฝ่ายนายสารถีของพระเจ้าพรหมทัตกล่าวว่าพระราชาของตนนั้นไม่ได้มีอัธยาศัยผันเปลี่ยนยักย้ายตามสันดานของผู้อื่น พระองค์ทรงมีแต่ส่วนดี ไม่มีโทษ เช่น ทรงสอนว่าบุคคลพึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนพาลด้วยความเป็นสัตบุรุษ พึงชนะผู้ตระหนี่ด้วยการให้ปัน เป็นต้น พระเจ้าพัลลึกกับนายสารถีได้ฟังก็เกิดความเลื่อมใสจึงยอมหลีกทางให้ และเชิญให้พระเจ้าพรหมทัตเสด็จก่อน พระเจ้าพรหมทัตประทานพระราโชวาทแก่พระเจ้าพัลลึกแล้วเสด็จเข้าพระนคร ทรงบำเพ็ญกุศลบริจาคทานตลอดพระชนม์ชีพ ได้ไปเกิดในสวรรค์
ส่วนพระเจ้าพัลลึกเมื่อไม่เห็นมีราษฎรกล่าวโทษพระองค์ก็เสด็จกลับพระนคร ทรงบำเพ็ญกุศล บริจาคทาน เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory