พระขันทกุมารเป็นเทพเจ้าในคำฉันท์เรื่องดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง เรียกตามสันสกฤตว่า “สกันท” ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม ในมหาภารตะและรามายณะกล่าวไว้ว่าเป็นพระโอรสพระศิวะ*กับพระอุมา* เป็นพระอนุชาพระคเณศร์* พระรูปของพระขันทกุมารเป็นหนุ่มน้อยที่ยังไม่เป็นหนุ่มเต็มที่นัก มีพระพักตร์หมดจดงดงามใสสะอาด พระวรกายสีขาวนวล มี 6 เศียร 12 กร มีอาวุธประจำกายคือหอก ธนู และศร มีนกยูงชื่อปรวาณี*เป็นพาหนะ ชายามีชื่อเกาเมารี* หรือเสนา*
เนื่องด้วยเทพบุตรองค์นี้มีความอ่อนเยาว์จึงได้รับการเรียกขานว่าเป็นกุมารคือพระขันทกุมาร และยังมีนามอื่นๆ ซึ่งเรียกตามกำเนิด ลักษณะ และบทบาทหน้าที่ของพระองค์ดังนี้
คงคาชา* เกิดจากคงคา
อัคนิ* ภูเกิดแต่ไฟ
กรรตติเกยะ* เนื่องด้วยนางกฤติกา (เทวีประจำดาวลูกไก่)
ฤชุกาย* มีกายตรง
ทวาทศกร* 12 กร
ทวาทศกษะ* 12 ตา
ศักดิธร* พระผู้ทรงหอก
มยุรอาสน์* หรือมยุรรถ* ขี่นกยูง
มยุรเกตุ* นกยูงเป็นธง
มหาเสนา* เทพแห่งสงคราม
ยุทธรงค์* มีความสามารถในการรบ
สิทธิเสน* ผู้นำสิทธา
ตารกชิต* ผู้ชนะตารกะ
ประวัติของพระขันทกุมารมีกล่าวไว้หลายคัมภีร์ ซึ่งมีเรื่องราวแตกต่างกันดังนี้
เรื่องที่ 1 ท้าวตารกาสูร* ผู้ครองนครตรีปุระ* บำเพ็ญตบะจนมีฤทธิ์เดชมาก เทวดาบนสวรรค์วิตกว่าจะรังแกเทวดาและมนุษย์ จึงลงความเห็นว่าผู้ที่จะปราบได้ต้องสืบสายจากพระศิวะ*กับพระอุมา*เท่านั้น แต่ในขณะนั้นพระศิวะกำลังบำเพ็ญตบะอยู่ที่ภูเขาหิมาลัย* เพราะเสียพระทัยที่พระสตี*ผู้เป็นชายาสิ้นพระชนม์ไป เหล่าเทวดาต่างรู้กันว่าพระสตีกลับชาติมาเกิดเป็นพระอุมาธิดาพระหิมวัต* จึงขอให้พระกามเทพ*นำบุษปศรไปยิงพระอุระพระอิศวรเพื่อให้ทรงรักพระอุมา เมื่อสมหวังจึงให้กำเนิดพระโอรสคือพระขันทกุมาร ซึ่งต่อมาได้สังหารท้าวตารกาสูร*สิ้นชีพไป
เรื่องที่ 2 พระอิศวรทรงขว้างเชื้อของพระองค์ลงไปในไฟ พระคงคารับไปเลี้ยงดูเป็นบุตร ต่อมามอบให้นางกฤติกา*ทั้ง 6 (ดาวลูกไก่) ไปเลี้ยงดูแลถวายนม พระขันทกุมารจึงมี 6 เศียรตามจำนวนนางกฤติกาผู้เลี้ยงดู
เรื่องที่ 3 เหล่าฤๅษีถูกพวกอสูรรบกวน จึงพากันไปทูลพระศิวะเพื่อให้หาผู้คุ้มกันให้ พระศิวะจึงลืมพระเนตรที่ 3 ซึ่งอยู่กลางหน้าผาก แล้วจ้องลงไปในสระที่ชื่อว่าสรวัน* ทันใดก็บังเกิดเป็นกุมาร 6 พระองค์ จากนั้นธิดาฤๅษี 6 คนได้นำไปเลี้ยงไว้ ภายหลังพระอุมาทรงสวมกอดพระกุมารทั้งหกพร้อมๆ กัน และด้วยเหตุที่พระนางทรงกอดแรงเกินไปจึงทำให้ร่างของพระกุมารรวมกันเป็นร่างเดียว ยกเว้นพระเศียรที่ยังคงมี 6 เศียร ต่อมาพระขันทกุมารได้ต่อสู้กับอสูรที่รบกวนฤๅษี โดยผ่าอสูรตนนั้นออกเป็น 2 ท่อน ท่อนหนึ่งกลายเป็นนกยูงซึ่งนำมาเป็นพาหนะ อีกท่อนหนึ่งเป็นไก่ตัวผู้ซึ่งมาปรากฏบนธงของพระองค์
ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างหลายเรื่องได้กล่าวถึงการบูชาพระขันทกุมารไว้ในบทขอพร โดยกล่าวถึงเพียงพระนาม ลักษณะ และพาหนะเท่านั้น แต่มิได้อธิบายความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธี หรือช้างอย่างไร เช่นกล่าวว่าพระขันทกุมารมี 6 พักตร์ 12 กร และทรงนกยูง ดังในคำประพันธ์นี้
อิกขันธกุมารฤทธิรงค์ หกภักตร์หัตถ์คง
สิบสองประสิทธิแสงศร
ทรงมายุรอาศน์บวร ฟ่องหาวเหินจร
จำรูญจำรัสรัศมี