พระจันทร์เป็นตัวละครในเรื่องเฉลิมไตรภพ เป็นเทวดาประจำดาวนพเคราะห์ดวงที่ 2 อดีตชาติคือจันทร์* บุตรชายคนกลางของเศรษฐีหัศวิไสย*กับนางสุนทรา* จันทร์มีพี่ชายชื่ออาทิตย์*และน้องชายชื่อราหู* ต่อมาครอบครัวยากจนลง ค้าขายไม่ได้กำไร บิดาจึงพาย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพทำไร่ทำนา และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ในงานทำบุญเลี้ยงพระบังสุกุลอัฐิบิดา อาทิตย์ค้นหาได้ขันทองมาใช้ใส่ข้าวตักบาตร อธิษฐานขอไปเกิดเป็นพระอาทิตย์* จันทร์ได้ขันเงิน ตักบาตรแล้วอธิษฐานขอไปเกิดเป็นพระจันทร์ ส่วนราหูหาได้แต่กระทายมาใส่ข้าวจึงโกรธพี่ทั้งสองมาก ราหูอธิษฐานขอไปเกิดก่อนพี่ๆ ให้ตัวใหญ่รัศมีมืดมิดสามารถปิดบังรัศมีของพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้ พี่น้องทั้งสามยังวิวาทกันแย่งชิงอัฐิบิดา นางสุนทราห้ามปรามและสั่งสอนมิให้ลูกทะเลาะกันแต่ให้รู้จักถนอมน้ำใจกัน คำสั่งสอนตัดพ้อของมารดาทำให้ทั้งสามยุติการทะเลาะวิวาท ภายหลังมารดาสิ้นชีวิตจันทร์และพี่น้องต่างแยกย้ายกันไปดำรงชีวิตของตนจนสิ้นอายุไปตามกรรม
จันทร์จุติปฏิสนธิ์ตามยูร มนุษย์สกูล
สตรีด้วยมีริษยา
เมื่อสิ้นอันตรากัปโลกถูกไฟเผาผลาญ ทวยเทพอินทร์พรหมต่างแปลงเป็นผงคลีหนีไอร้อนขึ้นไปอยู่ยังพรหมโลก เมื่อไฟดับแล้วจึงเกิดภพจักรวาลขึ้น พระอิศวร* พระอุมา* พระพรหมธาดา* และพระนารายณ์* ร่วมกันสร้างสิ่งทั้งหลายขึ้น เกิดเป็นไตรภพ คือ สวรรค์ มนุษย์ และบาดาล ทั้งทรงร่วมกันจัดระบบโลกและจักรวาล
มหาเทพทั้งสี่ทรงประกอบพิธีชุบเทวดานพเคราะห์ จันทร์ได้มาถือกำเนิดเป็นพระจันทร์ดังอธิษฐาน เมื่อมหาเทพทรงสั่งให้เลือกสรรหญิงงาม 15 นางมาเข้าพิธีแล้วทรงอ่านมนตร์จักรผัน ร่างนางทั้งสิ้นกลายเป็นผงคลี นำมาระคนปนกันอย่างดีและห่อด้วยผ้าทิพย์สีนวล มหาเทพทั้งสี่ประพรมน้ำทิพย์ลงไป เกิดเป็นเทวดามีรูปโฉมงดงาม ประทานนามว่าพระจันทร์* มีบุษบกวิมานสีแก้วมุกดา
กำหนดการจรของพระจันทร์มีดังนี้
พระจันทร์จรนั้นเล่า ตัดฤกษ์เข้าออกไปมา
คิดเสร็จเจ็ดทิวา ลัดฤกษ์พาหาวันเพ็ง
ขึ้นค่ำหนึ่งถึงสิบห้า ดวงจันทรากลมปลั่งเปล่ง
โชติช่วงจันทร์เมื่อวันเพ็ง ศุลีเล็งแก้วมุกดา
มหาเทพทั้งสี่ทรงพยากรณ์บุรุษสตรีที่เกิดวันจันทร์ไว้ว่ามีร่างกายงดงาม และมีหลายขวัญ ยามเยาว์วัยหัวเน่าเปื่อย ครั้นโตขึ้นก็หาย คนทั้งหลายเมตตาแต่อยู่ที่ใดมิได้นาน มีนิสัยโกรธง่ายหายเร็ว จิตใจไม่เป็นพาล และไม่อาฆาตมาดร้ายทำอันตรายใคร
ศัตรูของพระจันทร์คือพระราหู* ซึ่งผูกเวรอาฆาตกันมาแต่ชาติปางก่อน เช่นเดียวกับพระราหูจองเวรพระอาทิตย์
ราหูเดินต่ำใต้ ถอยหลังไปบังจันทรา
ลางครั้งบังสุริยา ด้วยเวราผูกเวรกัน
ปรากฏการณ์ราหูบังพระจันทร์และพระอาทิตย์ทำให้ผู้พบเห็นตระหนกตกใจ พยายามหาทางช่วยเหลือเพื่อทดแทนบุญคุณของเทพทั้งสองซึ่งให้แสงสว่างแก่โลก โดยกระทำการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องนี้ เป็นต้นว่า สวดภาวนา เสกเลขยันต์ ตีเกราะเคาะระฆังให้พระราหูตกใจปล่อยพระจันทร์ให้เป็นอิสระ