TLD-003-2860
พระอิศวร 2 (ชื่อตัวละคร)
พระอิศวรเป็นตัวละครในเรื่องเฉลิมไตรภพ เป็นหนึ่งในมหาเทพทั้งสี่ มีวิมานที่ประทับบนเขาไกรลาส*
เมื่อสิ้นอันตรากัป เกิดไฟไหม้ทำลายล้างโลก ปวงเทพอินทร์พรหมต่างแปลงเป็นผงคลีหนีไอร้อนขึ้นไปอยู่ยังชั้นพรหมโลก เมื่อไฟดับแล้วจึงเกิดภพจักรวาล แผ่นดิน และน้ำ แล้วจึงเกิดพระอิศวร พระอุมา* พระพรหมธาดา* และพระนารายณ์* ตามลำดับ เป็นมหาเทพทั้งสี่ผู้สร้างโลก คำที่กวีใช้เรียกพระอิศวรในวรรณคดีเรื่องนี้มีหลากหลาย เช่น พระจักรี พระจอมไตร เจ้าจอมโลกา อินทร์ เช่น “ปางอินทร์ยินคำสิทธา ทรงญาณปัญญา ก็ทราบสันดานสุรี”
พระอิศวรคือมหาเทพผู้เป็นประธาน ทรงเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์สรรพสิ่ง เช่น ทรงถอดปิ่นออกจากพระเกศของพระองค์ แล้วใช้พระเวทปักปิ่นลงกลางแผ่นดินเสกสร้างขึ้นเป็นเขาพระสุเมรุ และสิ่งประกอบทั้งหลาย ดังคำประพันธ์ที่ว่า
ถอดจุฬาออกจากเกศ ธรรมเวทประสิทธิ์มนต์
ปักกลางสุธาดล ประสาทเป็นพระเมรุธร
พลันกว้างยาวแลสูงใหญ่ มีเขาไม้สลับสลอน
ทั้งธารท่าแลสาคร ชลาเปี่ยมสมุทรไท
ทั้งภักษาธัญญาหาร ทุกประการประกอบไป
ดินน้ำทั้งลมไฟ บันดาลไว้ทุกสิ่งอัน
พระอิศวร พระอุมา พระพรหมธาดา และพระนารายณ์ ร่วมกันสร้างสิ่งต่างๆ ที่จำเป็น เกิดเป็นไตรภพ คือ สวรรค์ มนุษย์ และบาดาล ทั้งทรงจัดระบบของโลกและจักรวาล ด้วยการกำหนดวันคืน การนับเวลา ปี เดือน วัน สิบสองราศี ศักราช ตลอดจนมาตรา ทรงบันดาลให้เกิดสิบสองนักษัตร* รวมทั้งทรงร่วมกันทำพิธีชุบเทพนพเคราะห์ พระอิศวรมักเป็นผู้บัญชาการในการสร้างสิ่งต่างๆ ที่มหาเทพทรงปรึกษากันไว้ เช่น ทรงสั่งจิตรเทวา*ให้เตรียมการทำพิธีชุบเทพนพเคราะห์ พระอิศวรยังทรงมีบทบาทสำคัญในการกำราบผู้สร้างความเดือดร้อนในไตรภพ และลงโทษผู้กระทำความผิด สร้างความสงบสุขและดำรงกฎระเบียบของสังคม พระองค์ทรงมีเมตตากรุณาแก่สรรพชีวิตแม้ผู้ทำผิดทั้งหลายก็ยังทรงให้อภัยไม่ผูกอาฆาต ให้โอกาสแก้ไขไถ่โทษตามแต่กรณี
หากผู้ใดทำความชอบ พระอิศวรโปรดปรานก็จะประทานพรหรือรางวัลแก่ผู้นั้น เช่น ประทานพรให้ท้าวมังกรการ* ประทานวิมานให้นางเมขลา* พระอิศวรทรงปราบยักษ์ร้ายหลายครั้ง ทั้งทรงปราบด้วยพระองค์เองและทรงมอบหมายแก่พระนารายณ์ ดังเหตุการณ์ยักษ์สุรมุลาขินี* ผลาญชีวิตมนุษย์ สัตว์ ตลอดจนทวยเทพด้วยไฟแล้วจับกินเป็นอาหาร สร้างความทุกข์ร้อนหวาดกลัวทั่วไป เทวดาและฤๅษีพากันทูลให้ทรงทราบ พระอิศวรได้เสด็จมาทรงสังหารสุรมุลาขินี แล้วทรงเหยียบร่างของสุรมุลาขินีจมลงในบาดาล ประทานนามใหม่ว่ากรุงพาลี*และสาปให้เฝ้าพื้นแผ่นดิน ตราบสิ้นภพจักรวาลจึงจะพ้นคำสาป
ในคราวที่พระราหู*สร้างความวุ่นวายในสวรรค์แล้วลอบไปดื่มและสรงน้ำอมฤต* พระอิศวรทรงเล็งญาณทราบเหตุจึงทรงขว้างจักรไปสังหารพระราหู ทำให้ร่างของพระราหูขาดเป็น 2 ท่อนและสลบไป ถึงแม้พระราหูไม่สิ้นชีพเพราะอำนาจของน้ำอมฤตบันดาลให้เป็นอมตะ แต่ก็กลัวเกรงพระอิศวรอย่างยิ่ง เมื่อฟื้นขึ้นก็รีบหนีไปหลบซ่อนในวิมานของตน และเมื่อมีโอกาสก็พยายามอาสาทำความชอบไถ่โทษ ด้วยการอาสาพระอิศวรไปชักชวนให้รามสูร*ติดตามจับนางเมขลาและนำแก้วมณี*มาถวาย ซึ่งพระอิศวรก็ทรงอนุญาต
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory