TLD-003-2875
พราหมณ์ช่างไม้ (ชื่อตัวละคร)
ผันทนชาดก นิบาตชาดก
พราหมณ์ช่างไม้เป็นตัวละครในเรื่องผันทนชาดก เตรสกนิบาต ในนิบาตชาดก
ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี ที่ภายนอกพระนครมีบ้านช่างไม้ตั้งอยู่ พราหมณ์ช่างไม้คนหนึ่งเข้าป่าจะไปตัดไม้มาทำเป็นรถขายเลี้ยงชีพ
ต้นผันทนะ (ต้นตะคร้อ) ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งมีหมีตัวหนึ่งเที่ยวหาอาหาร มาพักนอนหลับอยู่โคนต้นตะคร้อต้นนั้น ขณะนั้นมีลมพัดกิ่งแห้งของตะคร้อตกลงถูกคอหมี หมีตกใจวิ่งหนี ครั้นหันหลังกลับมาดูทางที่วิ่งมาก็ไม่เห็นมีสัตว์ใดวิ่งตาม ก็คิดว่าที่กิ่งตะคร้อตกลงมาคงเป็นเทวดาประจำต้นตะคร้อกลั่นแกล้งข่มเหงตน จึงผูกใจเจ็บคิดจะแก้แค้น หมีทุบต้นตะคร้อแล้วขู่รุกขเทวดาว่าอีก 2 – 3 วันจะมาถอนต้นไม้แล้วตัดให้เป็นท่อน ๆ แล้วหมีก็เฝ้าคอยผู้ที่จะเข้ามาในป่า
เมื่อพราหมณ์ช่างไม้พาลูกจ้าง 2 – 3 คนเข้ามาในป่าเพื่อหาต้นไม้ที่จะไปทำรถ หมีเห็นพราหมณ์ช่างไม้จึงไปยืนอยู่ที่โคนต้นตะคร้อ เมื่อพราหมณ์เดินเลือกต้นไม้เข้ามาใกล้หมีก็ถามว่าจะมาตัดต้นไม้หรือ พราหมณ์ช่างไม้รู้สึกอัศจรรย์ใจที่หมีพูดได้ จึงถามหมีว่ามีต้นไม้ชนิดใดเหมาะที่จะทำกงล้อรถได้แข็งแรง หมีเห็นโอกาสที่จะได้แก้แค้นรุกขเทวดาต้นตะคร้อจึงตอบว่าไม้อะไรก็ไม่แข็งแรงมั่นคงเหมาะที่จะใช้ทำกงล้อรถหรือส่วนต่าง ๆ ของรถได้ดีเท่าไม้ตะคร้อ พราหมณ์ช่างไม้ถามว่าต้นตะคร้อมีลักษณะอย่างไร หมีบอกว่าต้นไม้ที่ตนยืนอยู่นี้คือต้นตะคร้อ แล้วก็ไปเดินเที่ยวด้วยความรื่นรมย์ใจ
ส่วนพราหมณ์ช่างไม้ก็จะลงมือตัดต้นตะคร้อ ฝ่ายรุกขเทวดาคิดว่าตนไม่เคยทำให้สิ่งใดตกใส่หัวของหมีเลย แต่หมีกลับผูกพยาบาทและจะทำให้วิมานของตนพังพินาศ รุกขเทวดาจึงวางแผนจะทำให้หมีต้องพินาศด้วย โดยแปลงกายเป็นชายผู้หนึ่งเข้าไปพูดคุยกับพราหมณ์ช่างไม้เกี่ยวกับการตัดต้นตะคร้อไปทำรถ รุกขเทวดาแปลงแนะนำพราหมณ์ช่างไม้ว่ารถจะแข็งแรงมั่นคงยิ่งขึ้นถ้าได้หนังคอหมีไปหุ้มกงรถ พราหมณ์ช่างไม้ถามว่าจะได้หนังหมีมาจากไหน
รุกขเทวดาแปลงบอกว่าให้ไปลวงหมีตัวที่บอกให้ตัดต้นตะคร้อมาถามว่าจะให้ตัดต้นตะคร้อตรงไหน ๆ เมื่อหมียื่นปากบอกให้ตัดตรงนั้นตัดตรงนี้ก็ให้ใช้ขวานคม ๆ ฟันหมี เมื่อตายแล้วจะได้ถลกหนัง กินเนื้อเสีย
จากนั้นจึงค่อยตัดต้นไม้ พราหมณ์ช่างไม้ก็ทำตามที่รุกขเทวดาแปลงแนะนำทุกประการ แล้วกลับไปที่อยู่ของตน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory