TLD-003-3134
ภังคยะสะกะโร, สังฆราช (ชื่อตัวละคร)
สังฆราชภังคยะสะกะโรเป็นตัวละครในเรื่องราชาธิราช เป็นพระสังฆราชชาวพม่า มีสติปัญญา มีความรู้ทั้งด้านพระไตรปิฎกและมีความสามารถด้านภาษาหลายภาษา ได้แก่ ภาษามอญ ไทยใหญ่ ไทยน้อย ลาว ญวน เงี้ยว และทวาย
พระเจ้าราชาธิราช*ทรงทราบว่าฝ่ายพม่าผลัดแผ่นดินใหม่ มังสุเหนียด*ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง* จึงยกทัพไปอังวะ* พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเพิ่งขึ้นครองราชสมบัติใหม่ๆ ยังไม่พร้อมรับศึกมอญจึงทรงประชุมสมณชีพราหมณ์และเหล่าขุนนาง ปรึกษาเพื่อหาอาสาสมัครคิดการสู้สงคราม พระสังฆราชภังคยะสะกะโรได้อาสาออกไปเกลี้ยกล่อมให้พระเจ้าราชาธิราชยกทัพกลับ พระสังฆราชภังคยะสะกะโรกับพระคางตรี*ซึ่งเป็นพระสงฆ์ติดตาม และคนชราจำนวน 60 คน ได้นำเครื่องราชบรรณาการลงเรือไปถวายพระเจ้าราชาธิราช
เมื่อได้เข้าเฝ้าพระเจ้าราชาธิราช พระสังฆราชภังคยะสะกะโรจึงทูลถามพระเจ้าราชาธิราชถึงเหตุผลที่ยกทัพมาอังวะ พระเจ้าราชธิราชบอกเหตุผล 3 ประการ ได้แก่ ประการแรกเพื่อแก้แค้นฝ่ายพม่าคือพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวา*ที่ยกทัพไปย่ำยีเมืองหงสาวดี* ประการที่ 2 เพื่อขยายขอบเขตขัณฑสีมาของฝ่ายมอญ และประการสุดท้ายเพื่อจะมานมัสการเจดียสถานและบำรุงพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง
พระสังฆราชภังคยะสะกะโรจึงได้ใช้วาทศิลป์เจรจาโน้มน้าวให้พระเจ้าราชาธิราชยกทัพกลับ โดยการอ้างถึงไมตรีที่พระเจ้าอะโนระธามังฉ่อ*อดีตกษัตริย์พม่าเคยมีต่อมอญ อ้างถึงขันติธรรมที่กษัตริย์พึงมี อ้างถึงการสร้างบุญกุศลเพื่อการเข้าสู่นิพพาน แต่ก็ยังไม่สามารถโน้มน้าวพระเจ้าราชาธิราชได้ ขณะที่พระสังฆราชภังคยะสะกะโรกำลังเจรจาโน้มน้าวนั้น ทหารของพระเจ้าราชาธิราชได้จับชาวพม่าซึ่งเป็นข้าพระคอยบำรุงรักษาพระธาตุสร้อยจะเยียดมาถวายซึ่งมีทั้งเหล่าข้าพระที่ถูกสังหารแล้วก็มี ยังไม่ถูกสังหารก็มี พระสังฆราชภังคยะสะกะโรจึงกราบทูลว่าการฆ่าข้าพระซึ่งเป็นผู้ที่กษัตริย์ถวายสำหรับบูชาพระรัตนตรัยนั้นเป็นครุกรรม พระเจ้าราชาธิราชทรงเห็นธรรมสังเวชตามโวหารของพระสังฆราชภังคยะสะกะโร จึงตัดสินพระทัยถอยทัพจากเมืองอังวะ แต่ก่อนถอยทัพฝ่ายมอญได้สร้างหอพระไว้ที่พระธาตุสร้อยจะเยียด การอาสาศึกของพระสังฆราชภังคยะสะกะโรก็สำเร็จด้วยดีสามารถช่วยให้พม่าพ้นภัยสงครามได้
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory