TLD-003-3150
ภีมเสน 2 (ชื่อตัวละคร)
ภีมเสนชาดก นิบาตชาดก
ภีมเสนเป็นตัวละครในเรื่องภีมเสนชาดก เอกนิบาต ในนิบาตชาดก
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัต*แห่งเมืองพาราณสี* พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติอยู่ในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยได้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ที่เมืองตักสิลา เมื่อศึกษาสำเร็จแล้วจึงได้ชื่อว่าจูลธนุคคหบัณฑิต* เนื่องจากจูลธนุคคหบัณฑิตมีรูปร่างเตี้ยค่อม จึงเกรงว่าถ้าตนไปเฝ้าพระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แล้วทูลว่าตนชำนาญในทางธนูจะขอรับราชการด้วยพระราชาพระองค์นั้นก็คงไม่ทรงเชื่อ จูลธนุคคหบัณฑิตจึงออกแสวงหาชายหนุ่มที่มีรูปร่างงามสมบูรณ์เพื่อให้ทำหน้าที่แทนตน โดยมีตนเป็นเงาช่วย ภีมเสนเป็นช่างทอหูกมีรูปร่างงามสมบูรณ์
เมื่อจูลธนุคคหบัณฑิตได้พบกับภีมเสนก็ชวนให้ทำงานร่วมกัน โดยให้ภีมเสนไปเฝ้าพระราชา แล้วให้ทูลว่ามีความสามารถในทางธนูจะหาผู้ใดในชมพูทวีปเปรียบไม่ได้ พระราชาก็คงจะทรงรับภีมเสนไว้รับราชการ ส่วนตนจะอยู่เบื้องหลัง เมื่อตกลงกันแล้ว ทั้งสองก็ไปเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตทรงรับภีมเสนไว้ ส่วนจูลธนุคคหบัณฑิตนั้นภีมเสนทูลว่าเป็นคนรับใช้ของตน เมื่อได้รับราชการแล้วบรรดาราชกิจทั้งปวงซึ่งเป็นหน้าที่ของภีมเสน จูลธนุคคหบัณฑิตก็เป็นผู้จัดทำให้สำเร็จลุล่วงไป
วันหนึ่งชาวเมืองมาทูลพระเจ้าพรหมทัตว่ามีเสือดุร้ายตัวหนึ่งคอยทำร้ายผู้คนบนทางสัญจรในป่าแห่งหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้ภีมเสนไปจับเสือตัวนั้น ภีมเสนเล่าให้จูลธนุคคหบัณฑิตฟัง จูลธนุคคหบัณฑิตจึงแนะวิธีให้ภีมเสนทำอุบายให้พระเจ้าพรหมทัตเชื่อว่าเป็นผู้ปราบเสือได้ ภีมเสนทำตามคำแนะนำของจูลธนุคคหบัณฑิตจึงประสบความสำเร็จ พระเจ้าพรหมทัตประทานฐานันดรศักดิ์และทรัพย์สินแก่ภีมเสน ต่อมามีกระบือดุร้ายตัวหนึ่งมาขวางทางสัญจร พระเจ้าพรหมทัตมีรับสั่งให้ภีมเสนไปจับอีก จูลธนุคคหบัณฑิตก็แนะนำให้ภีมเสนทำอุบายเสมือนว่าเป็นผู้ปราบกระบือได้อีกเช่นกัน พระเจ้าพรหมทัตจึงประทานรางวัลให้ภีมเสน ภีมเสนลืมตัวมัวเมาในลาภยศจนหลงคิดว่ากิจการทั้งปวงสำเร็จได้ด้วยความสามารถของตน ทั้งยังพูดจาหมิ่นแคลนจูลธนุคคหบัณฑิตว่ามิใช่ชาย และตนไม่ได้อาศัยจูลธนุคคหบัณฑิตเลี้ยงชีพ
ต่อมามีพระราชาเมืองหนึ่งยกทัพมาประชิดกรุงพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตให้ภีมเสนเป็นแม่ทัพออกรบ ภีมเสนขี่ช้างซับมัน โดยมีจูลธนุคคหบัณฑิตติดตามทำหน้าที่เป็นควาญท้ายช้างเพราะเป็นห่วงว่าภีมเสนจะตกช้างตาย เมื่อไปถึงสนามรบ ภีมเสนได้ยินเสียงกลองศึกก็ตกใจตื่นกลัวถึงกับปัสสาวะอุจจาระราดบนหลังช้าง จูลธนุคคหบัณฑิตจึงตำหนิภีมเสนว่า ภีมเสนเคยอวดว่าเป็นชายชาติทหารไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน แต่เหตุใดกลับอยู่ในภาวะเช่นนั้นบนหลังช้าง แล้วจูลธนุคคหบัณฑิตก็ให้ภีมเสนลงจากหลังช้างไปชำระกายที่บ้าน ส่วนตนก็ออกสู้รบและสามารถทำลายกองทัพข้าศึกแตกหนีไป ทั้งยังจับพระราชาไปถวายพระเจ้าพรหมทัตที่กรุงพาราณสีได้ พระเจ้าพาราณสีจึงประทานยศและรางวัลแก่จูลธนุคคหบัณฑิตเป็นอันมาก เกียรติคุณของจูลธนุคคหบัณฑิตก็เลื่องลือไปในชมพูทวีป จูลธนุคคหบัณฑิตได้แบ่งรางวัลแก่ภีมเสนและทำบุญให้ทานตามควร
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory