TLD-003-3217
มยุรโพธิสัตว์ (ชื่อตัวละคร)
โมรชาดก นิบาตชาดก
มยุรโพธิสัตว์เป็นตัวละครในเรื่องโมรชาดก ทุกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นนกยูง (โมระ)
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัต*แห่งเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกยูงทอง ร่างกายงดงามราวกับทองคำธรรมชาติลงยาราชาวดี มยุรโพธิสัตว์อาศัยอยู่ในแนวชั้นในซึ่งเป็นชั้นที่ 4 ของภูเขาทัณฑกหิรัญบรรพต* โดยละเว้นแนวชั้นนอก 3 ชั้นนั้นเสียเพื่อความปลอดภัย ทุกๆ เช้ามยุรโพธิสัตว์จะขึ้นไปจับยืนอยู่บนยอดเขา กล่าวคำนมัสการพระอาทิตย์อุทัยให้คุ้มครองตน แล้วกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า และในตอนเย็นก็กล่าวคำนมัสการพระอาทิตย์อัสดงอีกครั้งหนึ่ง คาถาที่มยุรโพธิสัตว์กล่าวนี้คือปริตรมนต์หรือปริตรคาถา พรานคนหนึ่งเที่ยวไปในป่าหิมพานต์เห็นนกยูงทองโพธิสัตว์จับอยู่บนยอดเขาทัณฑกหิรัญบรรพต เมื่อกลับบ้านเล่าให้บุตรชายฟัง
วันหนึ่งพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตทรงสุบินว่าเห็นนกยูงทองกำลังแสดงธรรมแต่นางยังไม่ทันได้ฟังก็สะดุ้งตื่นก่อนจึงมีพระประสงค์จะฟังธรรมจากนกยูง พระเจ้าพรหมทัตให้สืบเสาะหานกยูงทองตัวนั้นอยู่นาน จนได้รู้จากบุตรนายพรานว่าบิดาเคยเล่าให้ฟัง พระราชาสั่งให้บุตรนายพรานไปจับยูงทองนั้นให้ได้ บุตรนายพรานไปดักบ่วงไว้ที่ซึ่งมยุรโพธิสัตว์เคยลงหาอาหารแต่ก็จับไม่ได้เพราะอำนาจของปริตรมนต์คุ้มกันไว้ บุตรนายพรานพากเพียรอยู่ 7 ปี ก็ไม่สำเร็จ จนสิ้นชีวิตอยู่ในป่านั้น
เมื่อพระมเหสีไม่ได้ฟังธรรมจากนกยูง นางก็สิ้นพระชนม์ไปด้วยความตรอมใจ พระเจ้าพรหมทัตกริ้วมากสั่งให้จารึกอักษรไว้ในแผ่นทองว่าที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต*ในป่าหิมพานต์มีนกยูงทองอาศัยอยู่ ถ้าใครได้กินเนื้อยูงทองตัวนี้จะไม่แก่ไม่ตาย แล้วให้เก็บแผ่นทองนั้นไว้ในหีบทอง พระราชาองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปแล้วมีพระราชาอื่นๆ ครองราชสมบัติต่อมา ได้ทรงอ่านแผ่นทองก็ให้นายพรานไปจับมยุรโพธิสัตว์ แต่ก็ไม่สำเร็จ จ
นเวลาล่วงไปถึงรัชสมัยพระราชาองค์ที่ 7 ก็ทรงให้พรานป่าไปจับนกยูงทองอีก พรานคนนี้ช่างสังเกตเห็นว่านกยูงทองไม่ติดบ่วงจึงตามสอดแนมดูตลอดเวลา ก็รู้ว่านกยูงทองมีปริตรมนต์ที่สาธยายทุกเช้าเย็นจึงคุ้มกันอันตรายได้ พรานป่าจึงหาอุบายฝึกนางนกยูงตัวหนึ่งให้ทำตามสัญญาณของตน เมื่อได้ยินเสียงตบมือให้รำแพนหาง เมื่อได้ยินเสียงดีดนิ้วให้ร้อง แล้วพรานก็พานางนกยูงไปแต่เช้าก่อนมยุรโพธิสัตว์จะสาธยายปริตรมนต์ เมื่อได้ยินเสียงนางนกยูงร้อง มยุรโพธิสัตว์ก็เกิดกามกิเลสบินไปหานาง จึงไปติดบ่วงของนายพราน นายพรานจับมยุรโพธิสัตว์ไปถวายพระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์ดีพระทัยมาก
เมื่อมยุรโพธิสัตว์รู้ว่าถูกจับมาเพราะพระราชาประสงค์จะเสวยเนื้อตนก็กล่าวว่าเมื่อตนตายแล้วเนื้อของตนจะทำให้ไม่แก่ไม่ตายได้อย่างไร พระราชาตรัสว่ามยุรโพธิสัตว์มีสีเหมือนทองคำ ถือเป็นความวิเศษ มยุรโพธิสัตว์จึงอธิบายว่าสาเหตุที่ตนมีสีเป็นทองคำเพราะชาติก่อนเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในนครนี้ ได้รักษาศีล 5 ได้สั่งสอนฝูงชนทั่วมณฑลจักรวาลให้รักษาศีล 5 เมื่อสิ้นชีพได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และต้องจุติมากำเนิดเป็นนกยูงเพราะอกุศลกรรมบางประการ แต่ผลจากการรักษาศีล 5 ทำให้เป็นนกยูงทอง
พระเจ้ากรุงพาราณสีขอให้หาหลักฐานมายืนยันว่าเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มยุรโพธิสัตว์กล่าวว่ามีรถทรงอยู่คันหนึ่งประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ สามารถท่องเที่ยวไปในอากาศได้ ตนให้ฝังรถนั้นไว้ใต้สระโบกขรณี พระเจ้ากรุงพาราณสีก็ให้ไขน้ำออกจากสระและได้รถคันนั้นขึ้นมาจริง มยุรโพธิสัตว์แสดงธรรมให้พระราชาฟัง ถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งที่ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา ให้พระราชาตั้งอยู่ในศีล 5 บริจาคทาน พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงบูชามยุรโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ แต่มยุรโพธิสัตว์ถวายคืนและให้โอวาทเตือนสติมิให้ทรงประมาทในกุศลกรรม แล้วมยุรโพธิสัตว์ก็บินกลับที่อยู่ของตน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory