TLD-003-3358
มังกันจี 2 (ชื่อตัวละคร)
มังกันจีเป็นตัวละครในเรื่องราชาธิราช เป็นขุนนางคู่พระทัยพระเจ้าราชาธิราช* และพระเจ้าสุโทธรรมาธิราช*
มังกันจีเป็นกำพร้าบิดา มีพี่ชาย 1 คน เป็นคนยากจนมากแต่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด บ้านเดิมอยู่ ณ บ้านพะลาคา เมื่ออายุได้ 14 ปีบวชเป็นสามเณรชื่อว่าพุทธญาณ* มีความรู้เล่าเรียนทั้งพระสูตร พระอภิธรรม พระคัมภีร์โหราศาสตร์และชัยภูมิ พิชัยสงครามและกลอุบายพิชัยสงคราม เป็นผู้ที่มีความกตัญญูต่อมารดาอย่างยิ่ง
ขณะบวชเป็นสามเณรต้องสึกออกมาเป็นทาสทำงานเป็นคนเลี้ยงโคใช้หนี้แทนมารดา เมื่อมารดาสามารถนำดีบุกจำนวน 70 ชั่งไปไถ่หนี้ได้ มังกันจีจึงได้กลับไปบวชอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าราชาธิราชในขณะที่เป็นพระยาน้อย*เริ่มคิดการซ่องสุมผู้คนเพื่อให้พ้นภัยจากพระมหาเทวี* และสมิงมราหู* พระยาน้อยสุบินว่า มีบุรุษผู้หนึ่งนำดวงแก้ววิเศษจากทิศตะวันตกมาวางในฝ่ามือ มีตาปะขาวผู้วิเศษมาทูลว่าพระองค์จะทรงมีขุนนางคู่พระทัยที่มีสติปัญญามาช่วยคิดการเอาราชสมบัติโดยจะตั้งปริศนา 3 ข้อให้พระองค์ทรงแก้ปริศนา ปริศนาทั้ง 3 ข้อนั้นพระยาน้อยแก้ได้ถูกต้อง ได้แก่ ข้อที่ 1 เป็นปริศนาที่มังกันจีกล่าวไว้ครั้งยังเป็นสามเณรพุทธญาณ กล่าวเปรียบเทียบเกี่ยวกับอาการของโรค คือ “จะเป็นราหูก็ใช่ จะเป็นตัวคะก็ใช่ ครั้นว่าจะแน่ลงข้างไหนก็กลัวจะเป็นเท็จ เหมือนโยมไถนามาถึงคันนา แล้วก็กลับมาสอยพุทราอ่อนลากข้าง” ซึ่งพระยาน้อยแก้ปริศนาว่าหมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนั้นจะเสียชีวิตในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้น ข้อที่ 2 เป็นปริศนาที่มังกันจีกล่าวไว้เมื่อสึกออกมาทำงานใช้หนี้แทนมารดาโดยกล่าวเปรียบเทียบเรื่องการเลี้ยงโค คือ “ข้าขึ้นไปบนต้นไม้ไม่เห็นจึงได้เห็น ถ้าเห็นแล้วก็ไม่เห็น” ปริศนาข้อนี้พระยาน้อยแก้ปริศนาว่า ต้นไทรที่มังกันจีเลี้ยงโคอยู่นั้นมีโพรงอสรพิษอยู่ ข้อที่ 3 เป็นปริศนาที่มังกันจีกล่าวไว้เมื่อกลับไปบวชเป็นสามเณรอีกครั้ง โดยกล่าวเปรียบเทียบลูกเป็ดหงส์ซึ่งอยู่ในห่อสบงว่า “ซึ่งข้าพเจ้าห่อมานี้พม่าเรียกว่าแดง รามัญเรียกว่าโกลล์” พระยาน้อยแก้ปริศนาว่าหมายถึง ลูกเป็ดหงส์ห่ออยู่ในสบง เมื่อพระยาน้อยทรงแก้ปริศนาได้ครบ 3 ข้อ จึงทรงขอให้สามเณรพุทธญาณสึกออกไปรับราชการด้วย
สามเณรเมื่อสึกมาแล้วใช้ชื่อว่ามังกันจีมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา เป็นโหร เป็นทั้งผู้ออกอุบายต่าง ๆ ในการสงคราม ถวายคำทำนายดวงพระชะตาพระยาน้อย เป็นผู้กระทำพิธีขอศุภนิมิตจากเทพยดาที่สถิตอยู่ประตูเมืองทั้งแปดให้แก่พระยาน้อยเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนจะหนีไปตั้งตัว ณ เมืองตะเกิง* เมื่อพระยาน้อยได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าราชาธิราชแล้วทรงตั้งมังกันจีให้เป็นขุนนางในตำแหน่งราชามะนู* ราชามะนูรับราชการอยู่กับพระเจ้าราชาธิราช เป็นผู้วางแผนการรบหลายครั้ง จนมาถึงปลายรัชกาลพระเจ้าราชาธิราช ราชามะนูจึงไปรับราชการ ณ เมืองมองทะละกับพระยาเกียร* ราชบุตร
เมื่อพระยาเกียรเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าสุโทธรรมาธิราช ราชามะนูจึงได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสมิงมหาทัชชะ* เมื่อสิ้นชีวิตพระเจ้าสุโทธรรมาธิราชทรงจัดการปลงศพและมีมหรสพถึง 7 วัน แล้วเก็บอัฐิในผอบทองประดับพลอย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory