TLD-003-3587
ยักษ์ 4 ตน (ชื่อตัวละคร)
ยักษ์ 4 ตนเป็นตัวละครในนิทานเรื่องโคบุตร เป็นยักษ์ที่พระเวสสุวัน*สาปให้เฝ้าสระน้ำที่ป่าแห่งหนึ่ง
เมื่อนางมณีสาคร*และอรุณกุมาร*หนีพวกกบฏเดินทางเข้าไปในป่าจนถึงสระน้ำก็ลงดื่ม ชำระร่างกาย และเก็บฝักบัวกับกระจับสดกิน ยักษ์ 4 ตนเห็นเข้าก็โกรธวิ่งไล่จับ โคบุตร*เหาะผ่านมาเห็นเหตุการณ์ก็เข้าช่วยและห้ามปรามยักษ์ทั้งสี่ แต่ยักษ์ไม่เชื่อฟังกลับเข้าต่อสู้ โคบุตรจึงจับยักษ์ทั้งสี่ฟาดลงกับศิลา ยักษ์ร่ายเวททำให้ความเจ็บปวดหายไป แล้วรุมไล่ทำร้ายโคบุตร นางมณีสาคร และอรุณกุมาร โคบุตรจึงขว้างธำมรงค์ซึ่งเป็นเทพอาวุธสังหารยักษ์ทั้งสี่ได้
เมื่อจะช่วยนางมณีสาครและอรุณกุมารให้ได้กลับเมืองพาราณสี* โคบุตรก็ชุบชีวิตยักษ์ทั้งสี่และขอให้ยักษ์ช่วยเหลือ ยักษ์มอบแก้ววิเศษ 2 ดวงแก่โคบุตร ดวงแก้วนี้สามารถขอพรและช่วยให้เหาะเหินเดินอากาศได้ โคบุตรมอบแก้ววิเศษให้นางมณีสาครและอรุณกุมารใช้เหาะกลับเมือง เมื่อถึงเมืองพาราณสียักษ์ทั้งสี่จับพราหมณ์ปุโรหิตกับบุตรซึ่งเป็นกบฏมัดไว้ โคบุตรอยู่ที่เมืองพาราณสีระยะหนึ่งก็ประสงค์จะออกผจญภัยในป่า จึงขอให้ยักษ์ 4 ตนช่วยดูแลเมือง ยักษ์ทั้งสี่ทูลว่าจะผลัดเปลี่ยนกันไปดูแลทุก 15 วัน แล้วทูลลากลับป่าไป
เมื่อนางอำพันมาลา*ใช้เถรกระอำ*ทำเสน่ห์จนโคบุตรหลงรัก นางมณีสาครให้ตามอรุณกุมารมาช่วย อรุณกุมารรีบไปที่สระน้ำในป่า ชวนยักษ์ 4 ตนเดินทางไปยังเมืองปราการบรรพต*ของโคบุตร อรุณกุมารให้ยักษ์ตนหนึ่งแปลงเป็นแมลงวันสะกดรอยตามสาวใช้ของนางอำพันมาลาไปจนถึงกุฎีของเถรกระอำ แมลงวันคืนร่างเป็นยักษ์เข้าต่อสู้กับเถรกระอำ ทั้งสองต่างแปลงกายเป็นรูปต่างๆ ต่อสู้กัน ในที่สุดยักษ์ก็จับเถรกระอำกับสาวใช้ได้ อรุณกุมารให้เถรกระอำไปขุดรูปปั้นนางมณีสาครที่ฝังไว้แล้วไปเฝ้าโคบุตร
หลังจากได้ความจริงแล้วโคบุตรก็สั่งให้นำนางอำพันมาลา สาวใช้ และเถรกระอำไปประหาร และให้ยักษ์ทั้งสี่จับญาติวงศ์ของนางอำพันมาลาที่เมืองกาหลง*มาประหารด้วย
ยักษ์ตนหนึ่งทูลทัดทานโดยชักนิทานขึ้นเปรียบเทียบว่า มีพราหมณ์วิเศษผู้หนึ่งท่องเที่ยวไปในป่า ขณะหยุดพักใต้ต้นไม้ถูกนาคกัดที่นิ้วชี้ พราหมณ์ตัดนิ้วนั้นทิ้งเสีย พิษนาคก็หายไป นิ้วชี้นั้นเปรียบได้กับนางอำพันมาลา เมื่อนางทำผิดก็ผิดเฉพาะตัวนาง ไม่เกี่ยวข้องกับญาติวงศ์ โคบุตรแย้งว่าพราหมณ์ตัดนิ้วก็เจ็บเนื้อ แต่นาคมิได้ตาย นาคนั้นก็เหมือนกับญาติวงศ์ของนางอำพันมาลา หากไม่สังหารเสียก็จะเป็นเสี้ยนหนามต่อไป ยักษ์สุดที่จะทัดทานจึงนิ่งไป ยักษ์อีกตนหนึ่งจึงทูลทัดทานโดยชักนิทานขึ้นเปรียบเทียบว่า มีกษัตริย์แห่งเมืองสาวัตถีองค์หนึ่งประชวรพระยอด (ฝี) พิษกระจายไปทั่วร่าง แพทย์ประกอบโอสถรักษาก็ไม่หายขาด เมื่อได้พบหมออีกคนหนึ่ง หมอเอามีดกรีดหัวฝีออก พระองค์ก็หายประชวร โคบุตรได้ฟังก็สงสัย และกล่าวว่าหมอคนแรกนั้นไม่มีความสามารถ ส่วนพระองค์นั้นเหมือนหมอคนที่ 2 ซึ่งฉลาดรอบรู้ ยักษ์ได้ฟังดังนั้นก็สุดปัญญาที่จะทูลต่อไป ยักษ์ตนที่ 3 จึงทูลทัดทานโดยชักนิทานขึ้นเปรียบเทียบว่า มีฤๅษีตนหนึ่งเที่ยวเก็บผลไม้ฉัน พบต้นกระท้อนมีผลทั้งอ่อนและแก่ ก็ฟาดกระท้อนหล่นลงมาหมด ลิงป่าผ่านมาเห็นก็หัวเราะเยาะ และตำหนิว่าฤๅษีละโมบสอยกระท้อนอ่อนจนหมดสิ้น ต่อไปจะไม่มีฉัน ฤๅษีได้คิดก็เสียดาย ยักษ์กล่าวเปรียบเทียบว่าผู้ทำผิดก็เหมือนกับกระท้อนแก่ เมื่อสุกแล้วจึงค่อยสอย อย่าให้กระท้อนอ่อนหรือผู้ไม่ผิดต้องพลอยถูกลงโทษไปด้วย
เมื่อฟังจบโคบุตรแย้งว่าลิงป่าหวงกระท้อนจึงกล่าวล่วงพระฤๅษี ยักษ์จนใจไม่อาจจะทูลต่อไปได้ ยักษ์ตนสุดท้ายจึงทูลทัดทานโดยชักนิทานขึ้นเปรียบเทียบว่า มีนาคตนหนึ่งไม่เกรงกลัวครุฑ แนะนำให้เหล่านาคอมก้อนหินไว้ในปากแล้วไปลอยเล่นน้ำ เมื่อครุฑโฉบจิกหัวนาคแล้วบินไป หินก็ถ่วงครุฑลงน้ำตาย ต่อมาชีเปลือยเล่าความลับนี้ให้ครุฑฟัง เมื่อจะจับเจ้ากรุงนาค ครุฑจึงจับทางหาง ทำให้เจ้ากรุงนาคต้องสำรอกหินจนถูกครุฑจับไปได้ เหล่านาคก็กลับมาเกรงกลัวครุฑเช่นเดิม ยักษ์กล่าวว่าโคบุตรเปรียบเหมือนครุฑ ส่วนเหล่านาคเปรียบเหมือนญาติวงศ์ของนางอำพันมาลา หากโคบุตรหวาดระแวงเมื่อใดก็สามารถจับมาลงโทษได้โดยง่ายอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะประหารญาติวงศ์ของนาง โคบุตรรู้สึกขัดเคืองพระทัยจึงสั่งให้เสนาเตรียมทัพไปเมืองกาหลงทันที อรุณกุมารเห็นว่าไม่มีผู้ใดจะทัดทานโคบุตรได้ จึงช่วยทูลขออภัยโทษให้ญาติวงศ์ของนางอำพันมาลา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory