TLD-003-3737
รุรุ (ชื่อตัวละคร)
รุรุชาดก นิบาตชาดก
รุรุเป็นตัวละครในเรื่องรุรุชาดก เตรสกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพญากวาง
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัต*แห่งกรุงพาราณสี มีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อมหาธนกะ* เศรษฐีเกรงว่าบุตรจะลำบากจึงไม่ให้เรียนศิลปศาสตร์ใด ๆ มหาธนกะจึงได้แต่หมกมุ่นอยู่กับการร้องรำทำเพลงและการบริโภคอาหาร ครั้นเจริญวัยก็ได้แต่งงานกับหญิงที่บิดามารดาจัดหาให้ ครั้นบิดามารดาสิ้นชีวิต มหาธนกะก็ได้ครอบครองทรัพย์สมบัติทั้งปวง แต่มหาธนกะมั่วสุมอยู่กับอบายมุขตลอดเวลา ไม่นานทรัพย์สมบัติก็หมดสิ้น ต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นใช้ เมื่อเจ้าหนี้ทวงถามก็หนีเจ้าหนี้ไปฆ่าตัวตาย โดยกระโดดลงไปในแม่น้ำคงคาแต่ถูกกระแสน้ำพัดไปจึงร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนา
ในครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากวางชื่อรุรุ พญารุรุมฤคต้องการจะรักษาอุโบสถจึงละฝูงบริวารไปอยู่ในป่ามะม่วงโดยลำพัง พญารุรุมฤคมีผิวงามดั่งทอง เท้าสีแดงเหมือนย้อมด้วยน้ำครั่ง หางเป็นพวงพู่งามดั่งหางจามรี เขาทั้งคู่งามเหมือนช่อเงิน ดวงตาแวววาวดังทับทิม และปากเหมือนลูกข่างห่อหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพล ครั้นพญารุรุมฤคได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของมหาธนกะก็กระโดดลงฝ่ากระแสน้ำไปช่วยชีวิตไว้ แล้วช่วยพาออกจากป่า ขอร้องมิให้มหาธนกะบอกผู้ใดว่ามีกวางทองอยู่ที่ใดเพื่อหวังรางวัล มหาธนกะก็รับคำ
ในเวลานั้นนางเขมาเทวี*มเหสีของพระเจ้าพรหมทัตมีนิมิตฝันว่าได้ฟังธรรมจากกวางทอง จึงใคร่จะเห็นกวางทองนั้น นางเขมาเทวีทูลพระเจ้าพรหมทัตว่าถ้ามิได้ฟังธรรมจากกวางทองจะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป พระเจ้าพรหมทัตจึงให้ป่าวประกาศว่าถ้าผู้ใดบอกข่าวของกวางทองได้จะประทานรางวัลให้ มหาธนกะรู้ข่าวจึงรับอาสาพาพระเจ้าพรหมทัตและไพร่พลเข้าป่าไปล้อมจับพญารุรุมฤค พญารุรุมฤคทูลพระเจ้าพรหมทัตด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวานขอให้พระองค์จับเป็น และถามว่าผู้ใดบอกว่าตนอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อพญารุรุมฤครู้ว่ามหาธนกะเป็นผู้ทูลพระเจ้าพรหมทัตก็ติเตียนมหาธนกะว่าเป็นคนอกตัญญู และกล่าวว่าการช่วยคนอกตัญญูขึ้นจากการจมน้ำตายไม่มีค่าเท่ากับเก็บท่อนไม้ที่ลอยน้ำ เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงฟังดังนั้นก็กริ้วจะทรงสังหารมหาธนกะ แต่พญารุรุมฤคทูลห้ามไว้และขอให้พระเจ้าพรหมทัตประทานรางวัลแก่มหาธนกะตามที่ทรงประกาศไว้เพื่อรักษาสัจวาจา พระเจ้าพรหมทัตประทานอภัยทานแก่พญารุรุมฤคและสรรพสัตว์ จากนั้นพระองค์ก็พาพญารุรุมฤคเข้าวัง พญารุรุมฤคแสดงธรรมแก่มเหสี พระเจ้าพรหมทัต และเหล่าข้าราชบริพาร แล้วก็ทูลลาเข้าป่าไป
พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้ประกาศทั่วพระนครว่าได้ประทานอภัยทานแก่สรรพสัตว์จึงไม่มีผู้ใดกล้าทำร้ายสัตว์ ฝูงมฤคก็ไปกินข้าวกล้าในไร่นาของราษฎรตามชอบใจ ราษฎรพากันมาร้องทุกข์ แต่พระเจ้าพรหมทัตก็ยังทรงยืนยันรักษาวาจาสัตย์ห้ามทำร้ายสัตว์ทั้งปวง เมื่อพญารุรุมฤครู้เรื่องก็เรียกหมู่มฤคให้มาประชุมกัน สั่งสอนมิให้เข้าไปกินข้าวกล้าของมนุษย์ แล้วส่งข่าวไปถึงพวกมนุษย์ให้หาวิธีป้องกันโดยการผูกหรือปิดเครื่องหมายไว้ที่ไร่นาให้เห็นเป็นสำคัญ ตั้งแต่นั้นบรรดามฤคก็ไม่เข้าไปกัดกินข้าวกล้าในนาอีกเลย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory