TLD-003-3967
วนาวน (ชื่อตัวละคร)
วนาวนชาดก ปัญญาสชาดก
วนาวนเป็นตัวละครในเรื่องวนาวนชาดก ในปัญญาสชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นโอรสของพระเจ้าโกมลราช*กับนางวลิกาเทวี*แห่งเมืองโกฏิมหานคร*
วนาวนพลัดพรากจากบิดามารดาตั้งแต่แรกประสูติ เพราะนางกำนัลที่รับสินบนจากนางกัณหลิมา*มเหสีรองนำวนาวนใส่หีบไปฝังไว้ใต้ต้นจันทน์แดง เหตุที่วนาวนต้องพลัดพรากตั้งแต่แรกเกิดเป็นเพราะวิบากกรรมในอดีตชาติ เมื่อครั้งเป็นกุมารน้อยไปเที่ยวป่ากับบิดามารดาแล้วหยิบไข่ของไก่ป่าไป แม่ไก่จึงอาฆาตขอให้กุมารนั้นต้องพลัดพรากจากบิดามารดาบ้าง และแม่ไก่นั้นมาเกิดเป็นนางกัณหลิมาเทวี ด้วยบุญญาธิการของวนาวน รุกขเทวดาประจำต้นจันทน์แดงรู้ว่าวนาวนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต จึงเลี้ยงดูวนาวนอย่างดี รุกขเทวดาตั้งชื่อให้ตามเหตุที่ตนได้เลี้ยงดูวนาวนไว้ในป่า
เมื่อวนาวนเจริญวัยได้ 7 ปี สงสัยในกำเนิดของตนที่มีบิดาเป็นเทวดา ไม่มีมารดา แต่ตนเองเป็นมนุษย์ รุกขเทวดาต้นจันทน์แดงซึ่งกำลังจะจุติไปเกิดยังดาวดึงส์ จึงได้เล่าความจริงให้วนาวนฟัง เมื่อรุกขเทวดาจุติไปแล้ว วนาวนจึงออกเดินทางไปที่สำนักพระดาบสตามที่รุกขเทวดาแนะนำเส้นทางไว้ และได้ร่ำเรียนวิชากับพระดาบสเป็นเวลา 1 ปี แต่ด้วยความระลึกถึงพระมารดาที่ต้องตกยากจึงคิดจะเดินทางไปพบพระมารดาเพื่อปรนนิบัติรับใช้ พระดาบสจึงสอนให้ดูดวงดาวเพื่อกำหนดเส้นทางไปเมืองโกฏิมหานคร แต่ระหว่างที่เดินทางผ่านไป 7 วัน เกิดฟ้ามืดไปทุกทิศจึงทำให้วนาวนหลงทางไปถึงสระโบกขรณีที่กาลยักษ์และภรรยารักษาอยู่ ภรรยาของกาลยักษ์จึงจับตัววนาวนไว้รอจนกาลยักษ์ที่ไปเข้าเวรรับใช้ท้าวเวสสุวรรณกลับมา กาลยักษ์ถามวนาวนถึงความหมายของธรรมและอธรรม วนาวนแสดงความหมายของธรรมว่าหมายถึงกุศลกรรมที่จะนำไปสู่สวรรค์ ส่วนอธรรมหมายถึงอกุศลกรรมที่จะนำไปสู่นรก กาลยักษ์และภรรยาเลื่อมใสธรรมเทศนาดังกล่าวมาก จึงปวารณาที่จะไม่กินสัตว์ตลอดชีวิต แล้วช่วยพาวนาวนไปส่งยังเมืองกาสิกรัฐที่พระราชาเพิ่งสิ้นพระชนม์ เพราะเชื่อว่าคุณลักษณะของวนาวนจะทำให้ได้เป็นพระราชาเมืองนี้
ขณะที่วนาวนนอนหลับอยู่ใต้ต้นไทร บุษยราชรถเสี่ยงทายหาผู้เหมาะสมเป็นพระราชาองค์ใหม่มาหยุดรอเกยรับวนาวน บรรดาอำมาตย์และเสนาบดีที่ติดตามบุษยราชรถมาเห็นวนาวนมีรูปงามและมงคลลักษณะต่างๆ จึงเชิญขึ้นบุษยราชรถพาเข้าเมือง และอภิเษกขึ้นเป็นพระราชา
ฝ่ายนางภัจจา*มเหสีม่ายของพระราชาองค์ก่อนรักใคร่เอ็นดูวนาวนดังโอรส แต่พราหมณ์ปุโรหิตเข้าใจว่านางรับวนาวนเป็นสามี จึงคิดกำจัดวนาวนด้วยการลวงไปที่ยอดเขาโดยอ้างว่าพระราชาองค์ใหม่ต้องทำพิธีสนานพระเศียรบนยอดเขา เมื่อสบโอกาสพราหมณ์ปุโรหิตก็ผลักวนาวนลงเหว ทั้งนี้เพราะผลของวิบากกรรมในอดีตชาติที่วนาวนเป็นนายโคบาลได้จับกบตัวหนึ่งขว้างลงเหวแล้วหัวเราะชอบใจ กบนั้นได้มาเกิดเป็นพราหมณ์ปุโรหิตที่จองเวรต่อวนาวน ด้วยบุญญาธิการของวนาวน จึงทำให้เขาจับกิ่งต้นรังที่ยื่นออกมาไว้ได้ เทวดา 2 องค์ที่รู้ว่าวนาวนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตจึงช่วยเหลือด้วยการเนรมิตกองไฟขึ้น แล้วทดสอบความมีใจกรุณาของวนาวนด้วยเนรมิตตนเป็นกระต่ายวิ่งไปล้มลงเบื้องหน้า วนาวนคิดจะนำกระต่ายไปบริโภค แต่เมื่อเห็นกระต่ายยังไม่ตายด้วยความกรุณาและเกรงกลัวต่อบาปจึงปล่อยกระต่ายไป เทวดาทั้งสองจึงเนรมิตกายเป็นมนุษย์แล้วขอให้วนาวนแสดงธรรม วนาวนจึงแสดงธรรมเรื่องโลกธรรม 8 เพื่อชี้ให้เห็นว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน มีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศย่อมเสื่อมยศ มีสรรเสริญย่อมมีนินทา มีสุขย่อมมีทุกข์ เมื่อเข้าใจธรรมดาของโลกเช่นนี้จึงไม่ควรเศร้าโศกต่อสิ่งใดที่ผันแปรไป เทวดาทั้งสองฟังธรรมด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง จึงสักการะวนาวนด้วยอาหารทิพย์ต่างๆ และช่วยให้ขึ้นจากเหว แต่วนาวนไม่รู้ทางกลับเมืองกาสิกรัฐจึงเดินทางไปถึงสระโบกขรณีแห่งหนึ่งที่บรรดากินนรและกินรีใช้เป็นที่เล่นน้ำ และให้ยักษ์ 500 ตนเฝ้าไว้ บรรดายักษ์เห็นวนาวนดื่มน้ำและอาบน้ำในสระจึงจับตัวไปให้พระยากินนร พระยากินนรสั่งโบยและให้ขังไว้ในกรงเหล็กโดยไม่ให้กินอาหารเป็นเวลาถึง 3 ปี ทั้งนี้เพราะในอดีตชาติเมื่อวนาวนเกิดเป็นคหบดีมีบุตรบวชเป็นสามเณรซึ่งเกียจคร้านจึงให้พระภิกษุเฆี่ยนตีและสั่งงดอาหารแก่บุตรของตน ผลวิบากนี้ทำให้วนาวนต้องรับโทษจากพญากินนร แต่วนาวนได้ดื่มน้ำในสระทิพย์ก่อนที่จะถูกจับตัวจึงรอดชีวิต
พญากินนรฝันว่าได้ฟังธรรมอันไพเราะ จึงปล่อยตัววนาวนและขอให้แสดงธรรมให้ฟัง วนาวนได้แสดงธรรมเรื่องอานิสงส์ของศีลห้าซึ่งจะทำให้เกิดเรื่องดีงามในชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า พญากินนรฟังแล้วก็เบิกบานใจอย่างยิ่ง จึงยกนางสุวรรณคิรีธิดาของตนให้วนาวนเป็นเครื่องบูชาธรรม
วนาวนอยู่ในเมืองบนเขาไกรลาสได้ระยะหนึ่งก็ระลึกถึงพระมารดาจึงพานางสุวรรณคิรี*เดินทางไปยังเมืองโกฏิมหานคร พญากินนรให้ช่างประดิษฐ์ปีกหางอย่างวิจิตรงดงามมอบให้ทั้งคู่ใช้เดินทาง วนาวนพานางสุวรรณคิรีไปหยุดพักที่บรรณศาลาของพระดาบสตนหนึ่ง แต่ระหว่างที่ทั้งสองออกไปหาผลไม้ พระดาบสก่อไฟแก้หนาว ไฟจึงไหม้บรรณศาลาจนหมดสิ้น ปีกและหางก็ไหม้ไปด้วย วนาวนกับนางสุวรรณคิรีก็เดินทางต่อไปทั้งที่ไม่รู้ว่าเมืองโกฏิมหานครอยู่ทางทิศใด จนมาหยุดพักที่ใต้ต้นไทรที่มีนันทยักษ์สิงอยู่ เมื่อทั้งสองเห็นนันทยักษ์ก็ตกใจวิ่งหนีพลัดกันไปคนละทาง
วนาวนเที่ยวตามหานางสุวรรณคิรีก็ไม่พบ จนมาถึงอาศรมของพระฤๅษีตนหนึ่ง ก็อาศัยอยู่ที่อาศรมนั้น ฝ่ายนางสุวรรณคิรีก็เที่ยวตามหาสามีจนมาถึงอาศรมพระฤๅษีเช่นกัน ทั้งสองจึงได้พบกันแล้วอยู่ที่อาศรมนั้น ต่อมาอีก 1 เดือนก็ลาพระฤๅษี พระฤๅษีบอกเส้นทางไปเมืองโกฏิมหานครให้ วนาวนพานางสุวรรณคิรีเดินทาง 3 เดือนจนถึงเมืองกาสิกรัฐ และอาศัยอยู่กับนายประตูก่อนเพราะเกรงว่าหากขอเข้าเฝ้านางภัจจา นายประตูซึ่งไม่รู้จักตนคงไม่ยินยอม
วนาวนให้นางสุวรรณคิรีนำพวงมาลัยที่ตนร้อยไปขาย เมื่อนางภัจจาเห็นพวงมาลัยก็จำได้ว่าเป็นฝีมือของวนาวน ต่อมาวนาวนให้นางสุวรรณคิรีไปเรียนขับเพลง แล้วไปขับถวายเรื่องราวแก่นางภัจจา นางภัจจาจึงให้อำมาตย์ไปรับวนาวนเข้าวัง วนาวนกลับมาครองเมืองกาสิกรัฐอีกครั้ง แต่ยังตั้งใจที่จะไปพบพระมารดาที่เมืองโกฏิมหานคร จึงปลอมตัวเป็นพ่อค้าเดินทางไปเมืองโกฏิมหานครตามลำพัง และพบนางวลิกาเทวีที่ออกมาอาบน้ำพร้อมกับทาสีอื่น เห็นนางเป็นหญิงที่มีลักษณะต่างกับทาสี จึงเข้าไปไต่ถามจนรู้ว่านางคือพระมารดา จึงเข้าไปกอดเท้ารำพันเรื่องราวแต่ให้นางวลิกาเทวีฟัง นางวลิกาเทวีสวมกอดโอรสด้วยความรัก ทาสีคนอื่นเห็นจึงทูลพระเจ้าโกมลราชว่านางวลิกาเทวีคบชู้
พระเจ้าโกมลราชสั่งจับทั้งคู่มาลงโทษและขังไว้ นางภัจจารู้เรื่องจึงใช้อุบายช่วยเหลือ พระเจ้าโกมลราชปล่อยตัววนาวนกับนางวลิกาเทวี แล้วให้วนาวนไปรับนางภัจจากับนางสุวรรณคิรีมายังเมืองโกฏิมหานคร วนาวนสบโอกาสจึงยกทัพเมืองกาสิกรัฐมาล้อมเมืองโกฏิมหานครเพื่อให้พระเจ้าโกมลราชได้ประจักษ์ว่าโอรสที่พระองค์ทรงทอดทิ้งนั้นเจริญวัยขึ้นเป็นผู้มีความสามารถ วนาวนชนช้างชนะกัณหวลิอนุชาต่างมารดา และเมื่อพระเจ้าโกมลทรงทราบว่าวนาวนคือโอรสของพระองค์ ก็สำนึกผิด วนาวนให้อภัยเพราะเข้าใจดีว่าผู้ที่ยังเวียนว่ายในสังสารวัฏย่อมมีทุกข์และสุขเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งนี้เพราะมีการประกอบอกุศลกรรมและกุศลกรรมที่มีผลติดตามตัวไปทำให้เกิดทุกข์และสุขได้เสมอ แม้ในชาติปัจจุบันจะได้พยายามก่อแต่กุศลกรรมแต่อกุศลกรรมในอดีตก็ยังมีผลติดตามไม่ผันแปร วนาวนเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้ เมื่อกลับไปครองเมืองกาสิกรัฐจึงสร้างแต่กุศลกรรม เมื่อสิ้นอายุจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory