TLD-003-3973
วรนุช (ชื่อตัวละคร)
วรนุชชาดก ปัญญาสชาดก
วรนุชเป็นตัวละครในเรื่องวรนุชชาดก ในปัญญาสชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นโอรสแฝดองค์น้องของพระเจ้าเจตราช*กับนางสุภัททา*แห่งเมืองวิเทห* แคว้นเจตราฐ* มีแฝดผู้พี่ชื่อวรเนตร*
เมื่อนางสุภัททาเทวีทรงครรภ์ ประสูติโอรสแฝด นางเขมา*เทวีมเหสีองค์แรกสั่งให้นางทาสีนำโอรสผู้พี่ไปใส่หีบฝังดินไว้และนำโอรสผู้น้องใส่หม้อลอยน้ำไป แล้วให้นำท่อนไม้แกะสลักรูปกุมารมาหลอกพระเจ้าเจตราชว่าเป็นโอรสของนางสุภัททาเทวี พระเจ้าเจตราชจึงขับไล่นางสุภัททาเทวี
เทวดานำโอรสผู้พี่ไปเลี้ยงไว้ให้ชื่อว่าวรเนตร เมื่อวรเนตรเจริญวัยได้ออกเดินทางตามหามารดา พบกัสสป*ดาบส ดาบสมีธิดาเลี้ยงชื่อนางบุษบา*ซึ่งเป็นเทพธิดาจุติมาเกิดในดอกบัว พระดาบสยกนางบุษบาให้เป็นชายาของวรเนตรและให้ม้าอัสดรเป็นพาหนะ วรเนตรพานางบุษบาออกตามหามารดาจนได้พบกันและเนรมิตเมืองให้ชื่อว่าสาคละ ตั้งตนเป็นกษัตริย์และอยู่กับมารดาและชายาที่เมืองนั้น
ส่วนโอรสผู้น้องถูกกระแสน้ำพัดพาหม้อน้ำลอยไปใกล้อาศรมของพระอัคคิเนตร*ดาบส พระอัคคิเนตรดาบสซึ่งลงมาอาบน้ำที่ท่าน้ำเห็นหม้อน้ำลอยวนอยู่เปิดดูเห็นว่ามีทารกอยู่ในหม้อ จึงนำทารกมาเลี้ยงด้วยการให้ดื่มน้ำนมที่ไหลออกจากปลายนิ้วของตน และตั้งชื่อทารกนั้นว่าวรนุช
พระอัคคิเนตรดาบสเลี้ยงวรนุชได้ 1 ปี อัคคิสิขยักขราช*และนางราชบุตรีมเหสีมาเยี่ยมพระอัคคิเนตรดาบส เห็นวรนุชก็นึกรักใคร่เอ็นดูเพราะทั้งคู่ยังไม่มีโอรสธิดาจึงขอวรนุชไปเลี้ยง อัคคิสิขยักขราชสั่งให้บรรดายักษ์ในเมืองปกปิดความเป็นยักษ์ และได้เนรมิตเมืองดั่งเมืองสวรรค์ เมื่อวรนุชเจริญวัยขึ้นก็สงสัยว่าตนเป็นมนุษย์แต่เหตุใดบิดามารดาจึงเป็นเทวดา นางราชบุตรีปดว่าบิดาที่แท้จริงของวรนุชคือพระอัคคิเนตรดาบส วรนุชอยากพบพระดาบสแต่นางราชบุตรีห้ามไว้ ทำให้วรนุชสงสัยมากขึ้นว่าผู้ใดคือบิดามารดาที่แท้จริงของตน
ความสงสัยในชาติกำเนิดที่เกิดจากความกตัญญูต่อบิดามารดานี้ มีอานุภาพทำให้ร้อนถึงพระอินทร์ ต้องแปลงกายมาเป็นนกสาลิกาเล่ากำเนิดที่แท้จริงให้รู้ วรนุชรู้ถึงความทุกข์ของนางสุภัททาก็อยากจะตามหาพระมารดา ทำให้เศร้าหมองทุกวัน เมื่ออัคคิสิขยักขราชกับนางราชบุตรีรู้ ทั้งสองจึงสั่งให้เฝ้าวรนุชอย่างเข้มงวด
พระอินทร์เห็นว่าวรนุชมีความกตัญญูต่อพระมารดาแต่ถูกขัดขวาง จึงให้พระวิสสุกรรมแปลงกายเป็นนกยูงใหญ่พาวรนุชไปส่งที่อาศรมของพระอัคคิเนตรดาบส พระดาบสให้วรนุชศึกษาศิลปะให้เชี่ยวชาญก่อนออกตามหาพระมารดา วรนุชให้นกยูงไปแจ้งแก่นางราชบุตรีว่าตนอยู่กับพระอัคคิเนตรดาบส เมื่ออัคคิสิขยักขราชและนางราชบุตรีรู้จึงนำม้ามโนมัย พระขรรค์ และศรมาให้วรนุชไว้ใช้ในการออกตามหาพระมารดา
เมื่อวรนุชเรียนศิลปะกับพระอัคคิเนตรดาบสได้ 1 ปีจนเชี่ยวชาญในสรรพวิชาแล้ว จึงขอลาไปตามหาพระมารดา พระอัคคิเนตรดาบสบอกให้ไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของสากลนคร วรนุชขี่ม้ามโนมัยเหาะไปจนถึงสระน้ำแห่งหนึ่งก็หยุดพัก ท้าววรุณนาคราช*ซึ่งมาเล่นน้ำที่สระนั้นเห็นวรนุชหลับอยู่มีมงคลลักษณะจึงอุ้มไปนาคพิภพเพื่อให้เป็นคู่กับนางสมุททชา*ธิดาของตน แต่นางวิมาลาเทวี*มเหสีไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่รู้ชาติกำเนิดของวรนุช แต่ท้าววรุณนาคราชให้เหตุผลว่ามานพนี้มีรูปงามยิ่ง น่าจะเกิดในตระกูลดี เมื่อท้าววรุณนาคราชปลุกวรนุชขึ้นมาไต่ถามจึงรู้ว่าวรนุชเป็นโอรสของกษัตริย์ จึงมีความยินดียิ่งและยกนางสมุททชาให้เป็นชายา
วรนุชอยู่ที่นาคพิภพได้ 3 เดือนก็ระลึกถึงมารดา จะออกตามหาแต่พญานาคห้ามไว้ ต่อมาไม่นานวรนุชฝันว่าพระอัคคิเนตรดาบสตำหนิตนที่ได้ชายาแล้วลืมมารดา เมื่อตื่นขึ้นวรนุชจึงใช้อำนาจของพระขรรค์แหวกแผ่นดินเป็นช่องขึ้นจากนาคพิภพสู่โลกมนุษย์
วรนุชเดินทางมาถึงต้นไทรต้นหนึ่งก็หยุดพัก รุกขเทวดา 4 องค์ปรึกษากันว่าวรนุชเป็นผู้มีบุญญานุภาพที่จะช่วยปราบพญายักษ์สิงหกัณณะ*หรือสิงหกูฏันตยักษ์*เจ้าเมืองสีหกูฏนคร* ซึ่งชอบข่มเหงเหล่าเทวดาได้ จึงคิดจะอุ้มสมวรนุชกับนางสุวรรณคันธาธิดาของพญายักษ์ เพื่อให้พญายักษ์สิงหกัณณะโกรธแค้นและรบกับวรนุชแล้วจะได้พ่ายแพ้ต่อศรทิพย์ของวรนุช
วรนุชได้นางสุวรรณคันธา*เป็นชายา เมื่อพญายักษ์สิงหกัณณะ รู้ก็ให้มหิสกรรณ*อนุชาของนางสุวรรณคันธานำกล้องไปเป่าควันยาสลบ แล้วจับตัววรนุชใส่กรงเหล็กไว้ แต่รุกขเทวดาทั้งสี่ช่วยกันยกกรงเหล็กและแท่นที่นางสุวรรณคันธานอนอยู่ไปวางไว้ใกล้อาศรมของพระอัคคิเนตรดาบส แล้วเล่าเรื่องทั้งหมดให้ดาบสฟัง
พญายักษ์รู้ว่าวรนุชและนางสุวรรณคันธาหายไป จึงยกทัพติดตามไปยังอาศรมของพระอัคคิเนตรดาบส เมื่อได้ยินเสียงกองทัพยักษ์วรนุชก็ระลึกถึงม้ามโนมัย ครั้นม้ามโนมัยมาถึงวรนุชก็ขึ้นม้าและแกว่งพระขรรค์อธิษฐานว่าหากตนจะมีชัยขอให้มีภูเขาขวางทัพยักษ์ไว้ ม้ามโนมัยพาวรนุชทะยานขึ้นไปยืนบนยอดเขาที่สูง 3 โยชน์นั้น วรนุชได้แกว่งพระขรรค์อธิษฐานอีกครั้งว่าขอให้มีกำแพงทิพย์ล้อมรอบภูเขาไว้ให้แน่นหนา
พญายักษ์สิงหกัณณะได้เนรมิตกายให้มี 10 หัว 20 แขนถือสรรพาวุธพร้อม นั่งช้างนาฬาคิริเข้าต่อสู้แต่วรนุชใช้ศรทิพย์และพระขรรค์ต้านทานไว้แล้วแผลงศรสังหารพญายักษ์สิงหกัณณะตาย ในการปลงศพไม่อาจเคลื่อนศพพญายักษ์ได้ วรนุชได้ขอขมาต่อศพจึงเคลื่อนศพไปเผาได้ เหล่ายักษ์เห็นวรนุชมีบุญญาธิการมาก จึงเชิญให้ขึ้นครองเมืองสีหกูฏนคร
วรนุชเสวยสุขอยู่กับนางสุวรรณคันธาในเมืองยักษ์ 3 ปีจนลืมที่จะตามหาพระมารดา ม้ามโนมัยเตือน วรนุชจึงขี่ม้าเหาะไปถึงสากลนคร ม้ามโนมัยได้พบกับม้าอัสดรซึ่งเป็นม้าของวรเนตร ม้าทั้งสองได้กลับไปเล่าให้เจ้านายของตนฟัง วรเนตรจึงขี่ม้าอัสดรออกไปพบวรนุช และพาวรนุชเข้าเฝ้าพระมารดา
วรเนตรแต่งตั้งให้วรนุชเป็นอุปราช ต่อมาวรนุชไปรับนางมาอยู่ที่สากลนคร แต่ม้ามโนมัยออกตามนางม้าไป วรนุชจึงต้องเดินเท้าออกจากเมืองจนพบช้างเผือกลักษณะดีที่ได้พาวรนุชแหวกแผ่นดินเพียงชั่วครู่ก็ถึงนาคพิภพ เมื่อวรนุชรับนางสมุททชากลับมาแล้ววรนุชก็ขี่ม้ามโนมัยเหาะไปรับนางสุวรรณคันธาที่สีหกูฏนคร เป็นเวลาเดียวกับกุกกุฏยักขราชายกทัพมาจะชิงสีหกูฏนคร แต่วรนุชก็รบชนะ
ต่อมาวรนุชฝันว่ามีมหากาฬบุรุษตัดเท้าของตน แต่เมื่อเดินทางไปทางทิศตะวันตกจนพบพระบิดาแล้ว จึงจะได้เท้าคืน วรนุชคิดว่าเป็นนิมิตที่ตนจะได้ช้างเผือกที่ติดตามนางช้างไปกลับคืนมา จึงขี่ม้ามโนมัยเหาะไปจนพบช้างเผือกอยู่ในโรงช้างหลวงของเมืองวิเทห เมื่อช้างเผือกเห็นวรนุชก็สลัดเครื่องพันธาภรณ์วิ่งตามวรนุชไป พระเจ้าเจตราชรู้จึงขัดขวางไว้ เมื่อวรนุชทูลว่าช้างเผือกเป็นของตน พระเจ้าเจตราชกริ้วจึงแผลงศรหมายสังหาร แต่ศรนั้นกลายเป็นขนมและผลไม้ เมื่อวรนุชแผลงศรกลับไป ศรนั้นก็กลายเป็นพวงดอกไม้ทิพย์และพวงประทีปธูปพร้อมบูชา ทั้งสองอัศจรรย์ใจ จึงไต่ถามกันจนรู้วรนุชว่าเป็นโอรสของพระองค์ วรนุช จึงได้พาพระบิดานั่งช้างเผือกเหาะไปยังสากลนครเพื่อพบพระมารดาและพระเชษฐา
เมื่อพระเจตราชพานางสุภัททากับโอรสทั้งสองกลับไปเมืองวิเทหก็ให้ครองเมืองสืบต่อจากพระองค์ พระเจ้าวรนุชตั้งให้นางสมุททชาเป็นมเหสีเอก และนางสุวรรณคันธาเป็นมเหสีรองปกครองเมืองวิเทหด้วยความเป็นธรรมและร่มเย็นตลอดมา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory