TLD-003-3997
วัฒกีบัณฑิต (ชื่อตัวละคร)
สมุททวาณิชชาดก นิบาตชาดก
วัฒกีบัณฑิตเป็นตัวละครในเรื่องสมุททวาณิชชาดก ทวาทสกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นช่างไม้
ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี มีหมู่บ้านวัฒกี (ช่างไม้)อยู่ใกล้กับกรุงพาราณสี มีช่างไม้อาศัยอยู่ 1,000 ตระกูล ช่างไม้เหล่านี้กู้หนี้ยืมสินผู้คนจำนวนมาก บอกว่าจะสร้างเตียง ตั่ง และบ้านเรือนให้ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ทำ ผู้คนทั้งหลายบ้างก็เตือน บ้างก็ทวงทรัพย์ของตนจนบรรดาช่างไม้อยู่ไม่เป็นสุข จึงเข้าไปตัดไม้ในป่ามาต่อเป็นเรือลำใหญ่แล้วล่องเรือมาจอดไว้ห่างจากบ้านเรือนครึ่งโยชน์ พอตอนดึกก็ไปรับบุตรภรรยาลงเรือแล่นออกมหาสมุทรไปถึงเกาะกลางมหาสมุทร
ก่อนหน้านั้นมีชายผู้หนึ่งเรือแตกว่ายมาถึงเกาะ ได้อาศัยอยู่กินผลาหารที่เกาะนั้นจนร่างกายอ้วนพี แต่เปลือยกายเพราะไม่มีผ้านุ่งห่ม ผมและหนวดยาวเฟื้อย ฝ่ายช่างไม้ทั้งหลายที่มาถึงเกาะเกรงว่าบนเกาะจะมียักษ์หรือผีเสื้อน้ำอาศัยอยู่จึงส่งช่างไม้ที่กล้าหาญ 7 – 8 คนขึ้นไปสำรวจก่อน ได้เห็นบุรุษเปลือยกายนอนขับร้องเล่นอย่างสบายอารมณ์ก็เข้าใจว่าเป็นยักษ์จึงน้าวศรจะยิง บุรุษเปลือยร้องขอชีวิต เล่าความเป็นมาของตนตั้งแต่ต้นจนมาอยู่บนเกาะ แล้วบอกช่างไม้ว่าเกาะนี้มีข้าวสาลีและผลไม้เกิดขึ้นเองอย่างอุดมสมบูรณ์ คนที่มาอยู่เกาะนี้ไม่ต้องทำการงาน ช่างไม้ถามว่าถ้าพวกตนมาอยู่ที่เกาะนี้จะมีภัยอันตรายใด ๆ หรือไม่ บุรุษเปลือยตอบว่า มีภัยเพียงอย่างเดียวคือ เกาะนี้เป็นที่อยู่ของเทวดา ถ้าเทวดาเห็นคนมาถ่ายปฏิกูลทิ้งไว้จะโกรธ ดังนั้นเมื่อถ่ายเสร็จให้เอาทรายกลบเสีย ช่างไม้ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ก็ขึ้นมาอาศัยอยู่บนเกาะ
ในบรรดา 1,000 ตระกูลวัฒกีผู้ใหญ่ 2 คน คนหนึ่งเป็นคนพาล อีกคนหนึ่งเป็นบัณฑิต แต่ละคนมีบริวารคนละ 500 ช่างไม้ทุกคนอยู่บนเกาะอย่างมีความสุข อยู่มาวันหนึ่งบรรดาช่างไม้ทำสุราดื่มกันจนเมามายถ่ายอุจจาระปัสสาวะแล้วไม่กลบให้ดี ทำให้เกาะสกปรกน่ารังเกียจ เทวดาทั้งหลายบนเกาะโกรธพวกช่างไม้จึงคิดจะทดน้ำในมหาสมุทรขึ้นมากวาดล้างเกาะให้สะอาดในวันขึ้น 15 ค่ำ แต่มีธรรมิกเทวบุตร (เทวดาผู้ทรงธรรม) องค์หนึ่งสงสารพวกช่างไม้จะพากันตาย จึงเหาะมาปรากฏกายยืนอยู่ในอากาศ ณ ทิศเหนือ แล้วบอกข่าวแก่บรรดาช่างไม้ให้หนีไปอยู่ที่อื่นแล้วก็กลับไปที่อยู่ของตน ในเวลาต่อมาอธรรมมิกเทวบุตร (เทวดาอธรรม) ที่ต้องการฆ่าพวกช่างไม้รู้เรื่องก็เหาะมายืนอยู่ในอากาศ ณ ทิศใต้ กล่าวใส่ความธรรมิกเทวบุตรว่าธรรมิกเทวบุตรไม่ปรารถนาจะให้พวกช่างไม้อยู่เพราะโกรธที่มาทำเกาะสกปรก แล้วบอกว่าพวกช่างไม้ไม่ต้องไปอยู่ที่อื่นเพราะน้ำจะไม่ท่วมเกาะอันอุดมนี้
ฝ่ายพาลวัฒกีไม่เชื่อคำกล่าวของธรรมิกเทวบุตร ไม่เห็นภัยในอนาคต จึงยังให้ช่างไม้บริวารของตนคงอยู่ที่เกาะเหมือนเดิม ส่วนวัฒกีบัณฑิตฟังคำของธรรมิกเทวบุตรเตือนก็ไม่ประมาท ให้ช่างไม้บริวารของตนตระเตรียมเรือใหญ่เพื่อว่าถ้าคำเตือนเป็นจริงก็จะได้หนีทัน แต่ถ้าไม่เป็นความจริงการเตรียมเรือไว้ก็ไม่เสียหายอะไร และกล่าวว่าผู้เป็นบัณฑิตไม่ควรเชื่อถ้อยคำผู้ใดโดยปราศจากการพิจารณาให้ดี ไม่ควรเชื่อเพราะกล่าวก่อนหรือกล่าวทีหลัง ควรถือเอาเป็นกลาง ๆ ไว้ก็จะเป็นคุณ แล้ววัฒกีบัณฑิตก็พาบริวารของตนขนข้าวของลงไปอยู่ในเรือ
ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ คลื่นในมหาสมุทรก็ซัดขึ้นมาทำลายล้างเกาะ พวกช่างไม้บริวารของวัฒกีบัณฑิตก็เคลื่อนเรือซึ่งเตรียมพร้อมแล้วออกจากเกาะไปอย่างปลอดภัย ส่วนพวกของพาลวัฒกีก็พากันพินาศไป
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory