TLD-003-4237
สมิงนครอินทร์ 2 (ชื่อตัวละคร)
สมิงนครอินทร์เป็นตัวละครในเรื่องราชาธิราช เดิมชื่อมะสะลุม* เป็นทหารของสมิงสามผลัด*เจ้าเมืองแตร* เมื่อผิดใจกับสมิงสามผลัดจึงเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าราชาธิราช*
มะสะลุมเป็นนายทหารที่มีฝีมือมาก มีนิสัยซื่อตรงแต่มุทะลุ ได้แสดงฝีมือในการสงครามครั้งแรกคือ ตัดศีรษะของมะกราน*เจ้าเมืองกราน* ใส่ชะลอมถวายพระเจ้าราชาธิราช พระองค์ทรงปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองตึกคล้า* พระราชทานนามว่าสมิงนครอินทร์ แต่การปูนบำเหน็จครั้งนี้เป็นการปูนบำเหน็จภายหลังคนอื่น ๆ เพราะทรงเห็นว่าแม้มีความดีความชอบมากแต่ทำการไปโดยไม่บอกกล่าวทำให้ผิดขนบธรรมเนียม
สมิงนครอินทร์มีวีรกรรมในการทำสงครามหลายครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ปราบปรามสมิงโลกนรินทร์*และสมิงนะรา*แห่งเมืองพะสิม* ที่คิดขบถแข็งเมืองต่อพระเจ้าราชาธิราช ในการทำสงครามครั้งนี้สมิงนครอินทร์ได้คุมเรือเร็วโจมตีกองทัพเมืองพะสิม ได้เรือรบ ผู้คนและศัสตราวุธเป็นอันมากมาถวายพระเจ้าราชาธิราช
ครั้งที่ 2 เป็นแม่กองทัพหน้ายกทัพเรือไปตีเมืองอังวะ* เมื่อพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง*ขึ้นเสวยราชสมบัติใหม่ ๆ
ครั้งที่ 3 เป็นทัพหน้ายกไปต้านทัพพม่า ครั้งที่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องยกมาตีเมืองหงสาวดี*เป็นครั้งแรก การสงครามครั้งนี้สมิงนครอินทร์ดื้อรั้นไม่เชื่อฟังแม่ทัพใหญ่คือสมิงพ่อเพชร* จึงต้องแตกทัพหนีเข้าไปอยู่ในป่า ต่อมาเมื่อสมิงพ่อเพชร สมิงอุบากอง 2* สมิงอังวะมังศรี* สมิงชีพราย* สมิงพ่อแก้ว* และสมิงพระตะเบิด 3* โจมตีพม่าจนแตกพ่ายไป สมิงนครอินทร์จึงฉวยโอกาสออกมาโจมตีริบเอาช้างม้าผู้คนและศัสตราวุธรีบนำไปถวายพระเจ้าราชาธิราชเพื่อให้ตนเองพ้นผิด เมื่อพระเจ้าราชาธิราชทรงทราบความผิดของสมิงนครอินทร์จึงทรงคาดโทษตัดศีรษะหากกระทำผิดอีกครั้ง
ครั้งที่ 4 เป็นกองสอดแนมดูกำลังข้าศึกเมื่อพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องยกทัพมาตีเมืองหงสาวดีเป็นครั้งที่ 2 สมิงนครอินทร์ได้ถวายคำแนะนำพระเจ้าราชาธิราชให้มอญตั้งทัพ ณ แม่น้ำปันเกลาะ ในสงครามครั้งนี้สมิงนครอินทร์สามารถฆ่ามังมหานรธา*แม่ทัพพม่า แล้วตัดศีรษะมังมหานรธาแช่น้ำผึ้งไปถวายพระเจ้าราชาธิราช มีความดีความชอบมาก
ครั้งที่ 5 เป็นแม่ทัพไปตีทัพของสังขยา*นายทัพพม่าซึ่งตั้งทัพอยู่ ณ ตำบลงอนโต ครั้งนี้สมิงนครอินทร์ได้ลองพระทัยพระเจ้าราชาธิราชว่าจะรักสตรีหรือทหาร โดยแสร้งแสดงความอาลัยรักนางอุตละ*นางสนมคนโปรดของพระเจ้าราชาธิราช จนไม่สามารถออกเรือไปกับกองทัพได้ ร้อนถึงสมิงพ่อเพชรต้องช่วยแก้ปัญหาโดยกราบทูลพระเจ้าราชาธิราชให้ทรงทราบ ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานนางอุตละแก่สมิงนครอินทร์แต่สมิงนครอินทร์ได้ถวายนางคืน
ครั้งที่ 6 เมื่อครั้งที่พม่ากับมอญได้ตกลงจะกระทำสัตยานุสัตย์ต่อกัน สมิงนครอินทร์เป็นนายทหารฝ่ายมอญที่ถูกกำหนดให้กระทำสัตยานุสัตย์กับมังมหาราชา*นายทหารฝ่ายพม่า ฝ่ายมอญมีอุบายจะลวงฆ่านายทหารฝ่ายพม่าภายหลังกระทำสัตย์ต่อกันแล้ว ขณะกำลังจะกระทำสัตย์นั้น มังมหาราชาได้ถามถึงความจริงใจของฝ่ายมอญ สมิงนครอินทร์จึงบอกความจริงไป ทำให้พม่ารู้ตัวรอดพ้นจากอุบายของมอญได้ การกระทำเช่นนี้ของสมิงนครอินทร์ถือว่าเป็นความผิดมาก พระเจ้าราชาธิราชจึงทรงลงโทษให้สมิงนครอินทร์ออกชนช้างกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเป็นการไถ่โทษ โดยให้สมิงนครอินทร์ขี่ช้างพลายประกายมาศ* และแต่งกายด้วยเครื่องทรงกษัตริย์ มีเครื่องสูงและปี่กลองชนะ เพื่อลวงให้พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเข้าใจผิด ขณะกำลังจะเข้าชนช้างกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องนั้น มังศรีธาตุ*อนุชาพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเกรงว่าพระเชษฐาจะเสียชีวิตด้วยน้ำมือทหารเป็นการไม่สมพระเกียรติ จึงร้องบอกให้พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องรู้ตัว ทรงหักฉัตรขี่ช้างหนีไปได้ สมิงนครอินทร์จึงทำการไม่สำเร็จ
ครั้งที่ 7 สืบเนื่องจากการที่ไม่สามารถชนช้างกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ สมิงนครอินทร์จึงอาสาแก้ตัวอีกครั้งโดยปลอมตัวเข้าค่ายพม่าแล้วแฝงกายเข้าไปถึงแท่นบรรทมของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง สมิงนครอินทร์สำนึกตนว่าเป็นเพียงนายทหารธรรมดาไม่สมควรฆ่าพระมหากษัตริย์ จึงทำเพียงหยิบพระแสงและพานพระศรีข้างที่บรรทมไปเป็นหลักฐาน อีกทั้งตัดศีรษะนางในกับศีรษะของจักกายวังขุนนางผู้ใหญ่ของพม่าไปถวายพระเจ้าราชาธิราช การกระทำของสมิงนครอินทร์เช่นนี้นอกจากจะไถ่โทษได้แล้ว พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงถือว่าสมิงนครอินทร์เป็นผู้มีบุญคุณต่อพระองค์ จึงทรงขอดูตัว
ครั้งที่ 8 เนื่องจากทรงขอดูตัว สมิงนครอินทร์จึงต้องเข้าค่ายพม่าอีกครั้ง แต่เกรงจะถูกพม่าทำร้ายจึงแอบสอดดาบสองมือไว้ในเสื้อที่สวม ขณะกำลังเข้าเฝ้านั้นพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงแกล้งขู่ให้กลัว สมิงนครอินทร์จึงชักดาบที่ซ่อนไว้ออกมา พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงเห็นความองอาจกล้าหาญของสมิงนครอินทร์จึงพระราชทานพระธำมรงค์ปัทมราชกับเครื่องม้าทองคำแก่สมิงนครอินทร์ พร้อมทรงสรรเสริญเปรียบเทียบสมิงนครอินทร์ว่ามีคุณค่ามากเปรียบดังดวงแก้วอันประเมินค่ามิได้
ครั้งที่ 9 เป็นนายทัพช้างในกองทัพพระยาเกียร*ราชบุตรไปทำศึกกับมังรายกะยอฉะวา* ในสงครามมังรายกะยอฉะวาครั้งที่ 1 ผลการสู้รบพม่าแตกทัพหนีไป
ครั้งที่ 10 ในการทำสงครามกับมังรายกะยอฉะวาครั้งที่ 2 สมิงนครอินทร์ได้คุมทหารดาบสองมือฆ่าฟันทหารพม่าตายเป็นอันมาก มังรายกะยอฉะวาแตกทัพเป็นครั้งที่ 2
ครั้งที่ 11 สงครามครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของสมิงนครอินทร์ เป็นสงครามที่เกิดขึ้นภายหลังจากสมิงพ่อเพชรเสียชีวิตแล้ว มอญกับพม่าทำสงครามกัน ณ ปากน้ำอะลอย* ในครั้งนี้มังรายกะยอฉะวาคิดอุบายจับสมิงนครอินทร์ได้ สมิงนครอินทร์เมื่อถูกจับได้ประกอบกับความบอบช้ำจากสงครามและอดอาหารอยู่ได้ 3 วันจึงเสียชีวิต ก่อนเสียชีวิตสมิงนครอินทร์ได้ขอน้ำจากมังรายกะยอฉะวา มังรายกะยอฉะวาได้ให้น้ำจากพานและให้หมากเสวยด้วย
พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้จัดการศพสมิงนครอินทร์ด้วยเครื่องประดับที่ถอดจากพระองค์พร้อมทั้งโกศที่มีเครื่องประดับประดา เมื่อศพมาถึงค่ายมอญพระเจ้าราชาธิราชทรงให้ทำเมรุประกอบด้วยเครื่องประดับยิ่งกว่าที่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องแต่งมาให้ถึง 3 เท่า เมื่อพระราชทานเพลิงแล้ว อัฐิของสมิงนครอินทร์ถูกเก็บไว้ในผอบทองประดับพลอยนำไปบรรจุ ณ พระมุเตา ต่อมาพระเจ้าราชาธิราชสุบินเห็นสมิงนครอินทร์แต่งกายเต็มยศก็ทรงคิดถึง จึงโปรดให้หล่อรูปสมิงนครอินทร์ด้วยทองสำริดตั้งไว้บนตำหนักและให้บวงสรวงทุกวันมิได้ขาด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory