TLD-003-4249
สมิงพ่อเพชร (ชื่อตัวละคร)
สมิงพ่อเพชรเป็นตัวละครในเรื่องราชาธิราช เดิมชื่อพ่อมอญ* เป็นนายทหารคู่ใจของพระเจ้าราชาธิราช*ตั้งแต่ยังเป็นพระยาน้อย*
เมื่อพระยาน้อยรู้ว่าพระมหาเทวี*คิดฆ่าตนจึงปรึกษากับมังกันจี*และพ่อมอญเพื่อหาวิธีหนีออกจากเมืองพะโค* พ่อมอญจึงไปเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนเป็นพรรคพวก ในชั้นแรกได้ 30 คนรวมกับพรรคพวกของพ่ออู่หมอเฒ่า*ได้เป็น 160 คน หนีไปตั้งตัว ณ เมืองตะเกิง* เมื่อพระยาน้อยขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าราชาธิราชทรงแต่งตั้งพ่อมอญเป็นสมิงพ่อเพชร
สมิงพ่อเพชรออกศึกในฐานะแม่ทัพหลายครั้ง ครั้งแรกได้เป็นแม่ทัพหลวงยกไปต้านทัพพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง*ซึ่งยกมาตีเมืองหงสาวดี*หนแรก ในครั้งนั้นสมิงนครอินทร์*ดื้อรั้นไม่เชื่อฟังคำสั่งสมิงพ่อเพชร แล้วยังรีบขึ้นเฝ้าพระเจ้าราชาธิราชเพื่อทูลเสนอความดีความชอบใส่ตัว ทำให้สมิงพ่อเพชรโกรธมาก เมื่อพระเจ้าราชาธิราชทรงรู้ความจริง ทรงขอโทษให้แก่สมิงนครอินทร์และโปรดให้สมิงพ่อเพชรนั่งบนสุจหนี่ยี่ภู่เวลาเข้าเฝ้า
เมื่อพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องทรงยกทัพมาตีหงสาวดีเป็นครั้งที่สอง สมิงพ่อเพชรคิดอุบายทำลายทัพพม่าด้วยการลวงให้พม่าลงมาต่อสู้กับมอญกลางลำน้ำ ขณะต่อสู้น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ไพร่พลพม่าจำนวนมากจมน้ำตาย
ในสงครามพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องครั้งที่สาม สมิงนครอินทร์ต้องการลองพระทัยพระเจ้าราชาธิราชว่าทรงรักทหารหรือรักนางสนม โดยแกล้งทำเป็นหลงใหลนางอุตละ*ไม่ยอมออกศึก สมิงพ่อเพชรพยายามโน้มน้าวให้สมิงนครอินทร์เห็นว่าการกระทำเช่นนั้นไม่สมควรโดยอ้างหลักราชวัตร แต่เมื่อสมิงนครอินทร์ไม่เชื่อฟัง สมิงพ่อเพชรก็จำต้องไปทูลให้พระเจ้าราชาธิราชทรงทราบ
สมิงพ่อเพชรไม่เพียงมีบทบาทในฐานะขุนศึกเท่านั้น แต่ในยามที่พระเจ้าราชาธิราชต้องตัดสินพระทัย พระองค์ก็ทรงปรึกษาสมิงพ่อเพชรเนืองๆ ในครั้งที่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องตีเมืองทะละ* จับตัวสมิงชีพราย*ไว้ แล้วทรงมีสารมาขอเป็นไมตรี สมิงพ่อเพชรและอำมาตย์ทินมณิกรอด*ได้ถวายความเห็น แต่เนื่องจากครั้งนั้นนางเม้ยซุนเครือ*และนางเม้ยสะดุ้งมอด*ธิดาของสมิงชีพรายต้องการช่วยชีวิตบิดาตนจึงใช้เสน่ห์สตรีทำให้พระเจ้าราชาธิราชพระทัยอ่อนยอมเป็นไมตรีกับพม่า
เมื่อมังรายกะยอฉะวา*ก่อศึกรอบใหม่ตีได้เมืองตะเกิง* สมิงพ่อเพชรไม่ได้มีบทบาทในฐานะขุนศึกโดยตรงแต่เป็นผู้ให้คำปรึกษา สมิงพ่อเพชรได้ทูลขอให้เว้นโทษประหารชีวิตแก่พระยาอินทโยธา*ที่รักษาเมืองตะเกิงไว้ไม่ได้
เมื่อสมิงพ่อเพชรเสียชีวิตเพราะป่วยหนัก พระเจ้าราชาธิราชถึงกับทรงพระกันแสง โปรดให้จัดการศพตามบรรดาศักดิ์ เสด็จพระราชทานเพลิง แล้วเก็บอัฐิใส่ผอบทองบรรจุในพระธาตุมุเตา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory