TLD-003-4288
สรภังคะ (ชื่อตัวละคร)
สรภังคชาดก นิบาตชาดก
สรภังคะเป็นตัวละครในเรื่องสรภังคชาดก จัตตาฬีสนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิต ขณะที่คลอดจากครรภ์มารดา บรรดาอาวุธในเมืองพาราณสีลุกโพลงขึ้นในพระนครเป็นระยะทางไกลถึง 12 โยชน์ ปุโรหิตรู้ว่าต่อไปภายหน้า กุมารจะเป็นผู้เลิศกว่านายขมังธนูทั้งปวงในชมพูทวีป จึงไปทูลพระเจ้าพรหมทัต พระองค์ประทานเงิน 1,000 กหาปณะเป็นค่าน้ำนม ส่วนกุมารนั้นบิดาตั้งชื่อว่าโชติปาละ*
ครั้นโชติปาละอายุได้ 16 ปี บิดาให้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักทิศาปาโมกข์ เพียง 7 วันก็สำเร็จการศึกษา อาจารย์มอบพระขรรค์ ธนู แล่งธนู เกราะ เสื้อ กรอบหน้า และกุมาร 500 คนให้เป็นศิษย์ เมื่อโชติปาละกลับถึงบ้าน บิดาไปทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้โชติปาละทำหน้าที่ดูแลพระองค์ โดยประทานเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 1,000 กหาปณะ ฝ่ายบรรดาเสวกามาตย์ก็พากันโจษจันว่าโชติปาละไม่ได้แสดงผลงานอะไร แต่ได้รับเบี้ยเลี้ยงถึงวันละ 1,000 กหาปณะ เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงทราบ โปรดให้โชติปาละแสดงฝีมือ โชติปาละจึงแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่เสวกามาตย์ นายขมังธนู 60,000 และมหาชนว่าเป็นนายขมังธนูที่ไม่มีใครเปรียบได้ พระเจ้าพรหมทัตพอพระทัย จะให้โชติปาละเป็นเสนาบดี แต่เนื่องจากการแสดงธนูศิลป์เสร็จสิ้นตอนอาทิตย์อัสดง จึงจะทรงแต่งตั้งในวันรุ่งขึ้น
ในคืนวันนั้นเองโชติปาละพิจารณาเบื้องต้นและเบื้องปลายแห่งศิลปศาสตร์ทางการยิงธนูว่า เป็นการทำให้ผู้อื่นตายในเบื้องต้น ทำให้ได้รับความทุกข์ในท่ามกลาง และตกนรกในเบื้องปลาย และถ้าตนรับตำแหน่งเสนาบดีก็ย่อมจะหมกมุ่นลุ่มหลงแต่เรื่องกามกิเลสซึ่งลดละได้ยาก โชติปาละจึงตัดสินใจออกป่าบวชเป็นฤๅษี ณ ที่ใกล้ฝั่งน้ำโคธาวารี* ร้อนถึงพระอินทร์ให้พระวิศวกรรมลงมาเนรมิตอาศรมและเตรียมเครื่องบริขารไว้ให้ หลังจากบวชแล้วได้ชื่อว่าสรภังคะแปลว่าผู้หักศร
ฝ่ายบิดามารดาของโชติปาละเห็นบุตรหายไปก็ร้องไห้รำพันถึง เผอิญพรานป่าผู้หนึ่งได้พบฤๅษีสรภังคะจึงไปบอกบิดามารดา บิดาจึงไปทูลพระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบ พระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปพร้อมกับบิดามารดาและบริวาร สรภังคฤๅษีแสดงธรรมจนพระเจ้าพรหมทัตและทุกคนเลื่อมใส พากันบวชเป็นฤๅษี พระราชาเมืองอื่นๆ พร้อมด้วยชาวเมืองนั้นๆ ก็พากันมาบวช ทำให้มีฤๅษีจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีฤๅษี 7 ตนที่สำเร็จได้ฌานสมาบัติ ได้แก่ สาลิสสระ* เมณฑิสสระ* ปัพพตะ* กาฬเทวละ* กีสวัจฉะ* อนุสิสสะ* และนารทะ*
เมื่อมีฤๅษีจำนวนมาก ทำให้อาศรมแน่นขนัด สรภังคฤๅษีจึงให้สาลิสสรฤๅษี เมณฑิสสรฤๅษี ปัพพตฤๅษี กาฬเทวลฤๅษีพาหมู่ฤๅษีไปอยู่ ณ แดนอื่นตามลำดับ เวลาต่อมาเมื่ออาศรมเต็มอีก กีสวัจฉฤๅษีก็ออกไปอยู่ ณ อุทยานในแว่นแคว้นของพระเจ้าทัณฑกีราช* พระนารทมุนีไปอยู่ในมัชฌิมประเทศ ส่วนอนุสสิสสฤๅษียังคงอยู่ในสำนักของสรภังคฤๅษี
ในเวลานั้นพระเจ้าทัณฑกีราชทรงถอดหญิงนครโสภิณีออกจากฐานันดร นางไปเที่ยวอุทยาน ได้พบกับกีสวัจฉฤๅษี นางคิดว่าฤๅษีตนนี้เป็นกาลกิณี นางจึงจะลอยกลีโทษของนางไว้ในร่างกายของคนที่เป็นกาลกิณี คือเคี้ยวไม้สีฟันแล้วบ้วนเขฬะลงภายในชฎาของของกีสวัจฉฤๅษี โยนไม้สีฟันลงบนศีรษะของฤๅษี แล้วสระศีรษะของตน ฝ่ายพระเจ้าทัณฑกีราชทรงระลึกถึงนางจึงทรงตั้งนางให้อยู่ในฐานะเดิม นางจึงคิดว่าเป็นเพราะนางได้ทำกลีโทษในร่างกายของคนที่เป็นกาลกิณี อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าทัณฑกีราชทรงถอดปุโรหิตออกจากตำแหน่ง ปุโรหิตไปถามนางว่าทำอย่างไรจึงได้ตำแหน่งคืน นางเล่าให้ฟัง ปุโรหิตทำตามวิธีของนางก็ได้ตำแหน่งคืนมา
ต่อมาในปัจจันตชนบทของพระเจ้าทัณฑกีราชเกิดโจรผู้ร้าย พระองค์จะยกทัพออกไปปราบ ปุโรหิตทูลแนะนำว่า ถ้าทรงต้องการชัยชนะก็ให้ทำกลีโทษแก่ผู้ที่เป็นกาลกิณีซึ่งอาศัยอยู่ในอุทยาน พระเจ้าทัณฑกีราชก็ทรงทำตาม แล้วเสด็จกลับ ฝ่ายเสนาบดีผู้เป็นอุปัฏฐากกีสวัจฉฤๅษีมาเห็นเข้าจึงนำไม้สีฟันออกให้และให้สรงน้ำ พร้อมกับถามว่าจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดแก่พระเจ้าทัณฑกีราช กีสวัจฉฤๅษีกล่าวว่าตนไม่ติดใจโกรธพระราชา แต่เทวดาพากันกริ้ว อีก 7 วันบ้านเมืองจะพินาศ เสนาบดีนำความไปทูลพระเจ้าทัณฑกีราช แต่ไม่ทรงเชื่อ เสนาบดีจึงพาครอบครัวหนีไปอยู่เมืองอื่น ส่วนสรภังคฤๅษีรู้เรื่องที่เกิดขึ้น จึงให้ฤๅษี 2 ตนไปพากีสวัจฉฤๅษีมาที่สำนัก
ฝ่ายพระเจ้าทัณฑกีราชทรงปราบโจรได้แล้วก็เสด็จกลับ เทวดาบันดาลให้เกิดฝนและถ่านเพลิงตกจนผู้คนล้มตายและเมืองพินาศ ครั้งนั้นมีพระราชา 3 พระองค์ที่ปกครองรัฐใกล้เคียงกันคือ พระเจ้ากาลิงคราช พระเจ้าอัฏฐกราช และพระเจ้าภีมรถราชได้ยินข่าวว่ามีพระราชา 4 พระองค์ทำร้ายพระฤๅษี จึงทรงอยากรู้ว่าพระราชาทั้งสี่ซึ่ง 1 ใน 4 คือ พระเจ้าทัณฑกีราชนั้นจะได้ไปเกิดในสถานที่ใด พระราชาทั้งสามจึงจะไปถามสรภังคฤๅษี ทั้งสามพระองค์มาประจวบกันโดยมิได้ทรงล่วงรู้หรือนัดหมายแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ก็เสด็จลงมาเพื่อจะถามปัญหาสรภังคฤๅษีเช่นกัน ในวันเดียวกันนั้นเอง กีสวัจฉฤๅษีก็กระทำกาลกิริยา (ตาย) ขณะเผาศพก็เกิดฝนคือดอกไม้ทิพย์ตกลงมา เมื่อสรภังคฤๅษีรู้ว่าพระราชาทั้งสามและท้าวสักกเทวราชเสด็จมา ณ ฝั่งน้ำโคธาวารีเพื่อถามปัญหาตนก็ยินดียิ่ง ท้าวสักกเทวราชจึงถามปัญหาของพระองค์เองที่เตรียมมาพร้อมทั้งถามปัญหาแทนพระราชาทั้งสามด้วย สรภังคฤๅษีตอบทุกปัญหาอย่างกระจ่างแจ้ง พระราชาทั้งสามพร้อมทั้งบริวารเลื่อมใสขอบวช สรภังคฤๅษีก็บวชให้ จากนั้นพระฤๅษีทั้งหลายก็เหาะกลับไปบำเพ็ญพรต ณ ที่อยู่ของตน ส่วนท้าวสักกเทวราชก็เสด็จกลับเทวโลก
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory