TLD-003-4359
สังวระ (ชื่อตัวละคร)
สังวรมหาราชชาดก นิบาตชาดก
สังวระเป็นตัวละครในเรื่องสังวรมหาราชชาดก เอกาทสกนิบาต ในนิบาตชาดก
สัววรกุมารเป็นโอรสองค์สุดท้องในจำนวนโอรส 100 องค์ของพระเจ้าพรหมทัต*แห่งกรุงพาราณสี โอรส 99 องค์นั้นพระเจ้าพรหมทัตทรงมอบให้อำมาตย์แต่ละคนเป็นอาจารย์สอนศิลปศาสตร์และขัตติยประเพณีให้แต่ละองค์ ส่วนสังวรกุมารพระบิดาโปรดให้อำมาตย์โพธิสัตว์ซึ่งมีปัญญาเฉียบแหลมเป็นอาจารย์ อำมาตย์โพธิสัตว์ดำรงสถานะเสมือนเป็นบิดาของสังวรกุมารด้วย เมื่อโอรส 99 องค์สำเร็จการศึกษา พระเจ้าพรหมทัตทรงมอบเมืองชนบทให้ครององค์ละเมือง ส่วนสังวรกุมารนั้นเมื่อทรงศึกษาศิลปศาสตร์สำเร็จแล้วก็ตรัสถามอาจารย์ว่าถ้าพระบิดาประทานเมืองชนบทให้ควรจะทำประการใด อำมาตย์โพธิสัตว์ทูลว่าให้ปฏิเสธโดยอ้างว่าทรงปรารถนาจะอยู่รับใช้สนองพระคุณพระบิดา สังวรกุมารก็ปฏิบัติตาม เมื่อสังวรกุมารขอคำปรึกษาใด อำมาตย์โพธิสัตว์ก็ทูลแนะนำให้ทรงประพฤติปฏิบัติ เช่น ทรงลาพระบิดาไปเที่ยวแจกเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ราษฎร ทรงวางระเบียบหน้าที่ราชการในพระราชสำนัก ทรงลดหย่อนส่วยสาอากรแก่พ่อค้า เป็นต้น สังวรกุมารทรงโอบอ้อมอารีต่อบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเสนาอำมาตย์ ราษฎร ตลอดจนชาวต่างชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่รักและเป็นที่นิยมของคนในพระนคร
ต่อมาอำมาตย์ผู้เป็นเสนาบดีทูลถามพระเจ้าพรหมทัตว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วจะมอบราชสมบัติแก่โอรสองค์ใด พระเจ้าพรหมทัตตรัสว่าถ้าบรรดาเสนาบดีพอใจโอรสองค์ใดก็ถวายราชสมบัติแก่โอรสองค์นั้น ดังนั้นหลังจากที่พระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์ เหล่าเสนาบดีจึงทูลเชิญสังวรกุมารขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าสังวรมหาราช พระเจ้าสังวรมหาราชทรงอยู่ในโอวาทของอำมาตย์โพธิสัตว์ ทรงปกครองบ้านเมืองโดยทศพิธราชธรรม
เมื่อพระเชษฐาทั้ง 99 องค์รู้ว่าพระอนุชาองค์สุดท้องเสวยราชย์ก็เห็นว่าเป็นการไม่สมควร ราชสมบัติควรได้แก่พระอุโบสถ*ซึ่งเป็นพระเชษฐาองค์ใหญ่ พระเชษฐาทั้ง 99 องค์จึงรวมกันยกทัพมาล้อมเมืองพาราณสี ส่งทูตไปทูลพระเจ้าสังวรมหาราชให้ยกราชสมบัติให้พระเชษฐา ถ้าไม่ยกให้ก็จะต้องทำสงครามกัน พระเจ้าสังวรมหาราชทรงปรึกษากับอำมาตย์โพธิสัตว์ พระอาจารย์ทูลแนะนำว่า พระองค์ไม่ควรทำสงครามกับพระเชษฐา ควรแบ่งราชทรัพย์ของพระบิดาออกเป็น 99 ส่วน แล้วถวายพระเชษฐาทั้ง 99 องค์องค์ละส่วน พระเจ้าสังวรมหาราชก็ทรงปฏิบัติตาม
ฝ่ายพระอุโบสถเชษฐาได้รับสั่งกับบรรดาพระอนุชาว่า พระเจ้าสังวรมหาราชมิได้ทรงปรารถนาจะทำสงคราม และได้ทรงส่งราชทรัพย์มาให้ทุกองค์แล้ว พระเชษฐาจะบังคับให้พระอนุชายกราชสมบัติให้ทุกองค์ในเวลาเดียวกันย่อมมิได้ ดังนั้นควรเสด็จไปหาพระอนุชาถวายราชทรัพย์คืนแล้วเสด็จกลับเมืองชนบท เมื่อพระเจ้าสังวรมหาราชรู้ว่าพระเชษฐาทั้งหลายเสด็จมาหาก็ให้อำมาตย์นำราชสักการะไปเชิญให้เสด็จเข้าวัง
เมื่อพระอุโบสถเชษฐาเข้าเฝ้าพระเจ้าสังวรมหาราชก็ทอดพระเนตรเห็นพระสิริโสภาคอันงดงามของพระอนุชาขณะประทับอยู่เหนือรัตนสิงหาสน์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตรก็เข้าพระทัยได้ว่าพระบิดาคงจะทรงตระหนักดีว่าสังวรกุมารคือผู้ที่จะเป็นพระราชาในภายหน้า จึงได้ประทานเมืองชนบทให้แก่พระเชษฐาทั้ง 99 องค์ แต่มิได้ประทานให้สังวรกุมาร พระอุโบสถจึงทูลถามพระเจ้าสังวรมหาราชว่าด้วยสีลาจารวัตรใดพระองค์จึงได้เป็นพระราชาทั้ง ๆ ที่มีพระชาติเสมอกันกับพระเชษฐา และเพราะเหตุใดเมื่อพระเชษฐายกทัพมาแล้วจึงไม่สามารถทำอะไรพระองค์ได้ พระเจ้าสังวรมหาราชตรัสตอบว่าเป็นเพราะ ทรงฟังธรรมและประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของสมณะทั้งหลายด้วยความเคารพ ทรงบริหารบ้านเมืองให้มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ และทรงผูกใจคนทั้งปวงโดยเฉพาะพระราชวงศานุวงศ์ไว้ได้ เมื่อบรรดาพระเชษฐาได้สดับก็สรรเสริญว่าพระเจ้าสังวรมหาราชทรงครองราชย์โดยทศพิธราชธรรม ได้ทรงแสดงธรรมานุภาพแก่พระเชษฐาทั้งปวง ทั้งยังทรงเป็นบัณฑิตผู้ทรงพระปรีชาเฉียบแหลม ด้วยเหตุนี้ศัตรูทั้งหลายจึงไม่อาจเบียดเบียนได้ จากนั้นพระเจ้าสังวรมหาราชก็ประทานพระอิสริยยศอันใหญ่ยิ่งแก่พระเชษฐาทั้ง 99 องค์ พระเชษฐาประทับอยู่ในพระราชวังได้ครึ่งเดือนก็เสด็จกลับเมืองชนบท ส่วนพระเจ้าสังวรมหาราชก็ทรงอยู่ในโอวาทของพระอาจารย์อำมาตย์โพธิสัตว์ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็เสด็จไปสู่เทวโลก
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory