TLD-003-4523
สิโสร, พระเจ้า (ชื่อตัวละคร)
สิโสรชาดก ปัญญาสชาดก
พระเจ้าสิโสรเป็นตัวละครในเรื่องสิโสรชาดก ในปัญญาสชาดก (พระสี่เสาร์* ในพระสี่เสาร์กลอนสวด) เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระราชาครองเมืองอนันตนคร* มีมเหสีชื่ออนันตเทวี*
พระเจ้าสิโสรเป็นผู้ทรงธรรม บริจาคทานและรักษาศีลเป็นนิตย์ มีเดชานุภาพแผ่ไพศาลเป็นที่ครั่นคร้ามทั้งชมพูทวีป กษัตริย์น้อยใหญ่ถวายเครื่องบรรณาการกันอย่างเนืองแน่นทุกปี จนแก้วมีค่าที่ประดับมงกุฎและสังวาลของบรรดากษัตริย์ครูดสีกันหลุดออกมาเกลื่อนกล่นบนพื้น
วันหนึ่งพระเจ้าสิโสรฝันเห็นยอดปราสาทหักตกลงมาเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ปุโรหิตทำนายว่าจะมีบาปเคราะห์ พระเสาร์จะทับลัคนา ทำให้พระเจ้าสิโสรต้องพลัดพรากจากที่อยู่ ขอให้ทำพลีกรรมแด่พระเสาร์ในอีก 7 วัน พระเจ้าสิโสรได้ฟังคำทำนายก็กริ้ว เพราะทะนงว่าตนเป็นเทพไม่ต่างกับพระเสาร์ จึงพร้อมจะสู้กับพระเสาร์ทุกเมื่อ
เมื่อถึงวันที่ 7 พระเจ้าสิโสรมีอาการรุ่มร้อนดั่งเป็นบ้า วิ่งไล่ฟาดพระขรรค์ใส่ทหาร แล้วขึ้นม้าไป แต่เคราะห์ร้ายของพระองค์รุนแรงมากจนม้าทรงที่เคยเหาะได้กลับกลายเป็นม้าธรรมดาวิ่งไปได้ 30 โยชน์ก็สิ้นกำลัง ส่วนพระเจ้าสิโสรก็เหนื่อยล้าเพราะไม่เคยลำบาก เมื่อหวนนึกถึงคำทำนายของปุโรหิต ก็ได้แต่เสียใจที่ทะนงตนมากเกินไปจนต้องพลัดจากบ้านเมืองได้รับทุกขเวทนา
เมื่อพระเจ้าสิโสรจูงม้าเดินผ่านที่นาของชาวนา 3 คน ได้ถูกชาวนากล่าวหาว่าเป็นโจร ชาวนาคนแรกเห็นมงกุฎของพระเจ้าสิโสรเป็นกระบายข้าวจึงโบยตีพระเจ้าสิโสรและกล่าวหาว่าเป็นโจรลักกระบายข้าวของตน จนพระเจ้าสิโสรต้องยอมมอบมงกุฎให้ชาวนาไป เมื่อผ่านที่นาของชาวนาคนที่ 2 ซึ่งกำลังดักซุ่มจับโจรลักข้าว ชาวนาเห็นพระขรรค์ของพระเจ้าสิโสรเป็นเคียวเกี่ยวข้าวจึงเข้ามาโบยตีกล่าวหาว่าพระเจ้าสิโสรเป็นโจรมาลักเกี่ยวข้าวในนา พระเจ้าสิโสรจึงต้องมอบพระขรรค์ให้ชาวนาไป ส่วนชาวนาคนที่ 3 เห็นม้าทรงเป็นโคที่หายไปของตน จึงเข้ามาทุบตีเตะต่อยพระเจ้าสิโสร พระเจ้าสิโสรที่ร่างกายบอบช้ำไม่อาจต่อสู้ได้ ชาวนาจึงชิงม้าที่ทรงรักมากไป
พระเจ้าสิโสรบาดเจ็บหนักเหลือแต่พระภูษาติดกาย ร่ำไห้ด้วยความรันทดต่อชะตาชีวิต พยุงกายเดินต่อไปถึงอารามแห่งหนึ่ง พบสามเณรที่มีความผูกพันกันมาแต่กาลก่อนเข้ามาช่วยเหลือ เหล่าภิกษุรู้เรื่องจากสามเณรจึงได้ช่วยกันรักษาดูแลพระเจ้าสิโสรจนหายดี
พระเจ้าสิโสรคิดที่จะบวชแต่ยังขาดจีวร จึงมอบผ้าภูษาของพระองค์ให้ภิกษุไปเย็บเป็นจีวร นำไปย้อมที่นอกอาราม ระหว่างนั้นมีชาย 5 คนเที่ยวตามหาโคที่หายไป เห็นควันไฟจึงเข้ามาดู กลับเห็นผ้าจีวรที่ตากอยู่เป็นหนังโค รัตคดเป็นไส้โค ชิ้นกรักในหม้อเป็นเครื่องในทั้งหลาย น้ำต้มกรักกลายเป็นเลือดโค จึงกรูกันเข้ามาเตะต่อยพระเจ้าสิโสร พระเจ้าสิโสรพยายามอธิบายแต่ทุกคนไม่ฟัง พระเจ้าสิโสรจึงขอให้ไปถามภิกษุในอาราม ชายทั้งห้าใช้เชือกผูกคอพระเจ้าสิโสรลากไปไต่ถามความจริงจากภิกษุ ภิกษุยืนยันว่าพระเจ้าสิโสรกำลังย้อมจีวร ชายทั้งห้าจึงกล่าวหาว่าภิกษุปกป้องโจรแล้วลากพระเจ้าสิโสรไป แต่สามเณรได้ตามไปอ้อนวอนชายทั้งห้าให้ปล่อยตัวพระเจ้าสิโสร โดยสัญญาว่าหากพระเจ้าสิโสรหนีหายไป ขอให้จับตนไปลงโทษแทน
เมื่อพระเจ้าสิโสรพักรักษาตัวจนหายดีแล้ว ภิกษุเกรงว่าชายทั้งห้าจะกลับมาทำร้ายอีก จึงขอให้พระเจ้าสิโสรหาที่อยู่ใหม่ที่ปลอดภัย พระเจ้าสิโสรลาภิกษุออกจากอารามมาถึงเรือนของตายายคู่หนึ่งจึงได้ขออาศัยอยู่ด้วย รุ่งเช้าตายายจะนำเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกแต่เมล็ดพันธุ์พืชหายไป จึงกล่าวโทษพระเจ้าสิโสรว่าขโมยไป และเมื่อแก้ขอดผ้าภูษาที่พระเจ้าสิโสรเก็บแก้วมีค่าไว้ กลับเห็นแก้วมีค่าเป็นเมล็ดพืชของตน จึงพากันทุบตีพระเจ้าสิโสรแล้วไล่ออกจากเรือน
พระเจ้าสิโสรเดินทางต่อไปจนถึงเมืองอจลนครและปลอมตัวเป็นขอทาน ได้ยินขอทานทั้งหลายพูดคุยกันว่าพระธิดาสุทัตตเทวี*ออกมาอยู่เรือนนอกวังและบริจาคอาหารเป็นทานทุกวัน พระเจ้าสิโสรจึงไปร่วมรับทานด้วย โดยยืนคลุมหน้าและไม่ได้หมอบคลานเหมือนคนอื่น เมื่อเห็นนางสุทัตตเทวีเดินออกมาก็ตกตะลึงจนเปิดผ้าคลุมหน้าออกเพื่อมองอย่างเต็มตา และเมื่อได้สบตากันก็มีใจปฏิพัทธ์ต่อกันด้วยเป็นคู่กันมาตั้งแต่อดีตชาติ นางสุทัตตเทวีจึงให้ทาสีนำพระเจ้าสิโสรไปอยู่ที่เรือนไฟ และให้ทาสีคอยสังเกตกิริยาการกินอยู่ของพระเจ้าสิโสรจนมั่นใจว่าไม่ใช่ชายสามัญ จึงรับพระเจ้าสิโสรเข้ามาอยู่ในเรือนและอยู่ร่วมกันจนนางตั้งครรภ์ และประสูติโอรส
พระเจ้ากินนุวัตตราช*พระบิดาของนางสุทัตตเทวีรู้เรื่องก็กริ้ว แต่เอ็นดูพระนัดดาจึงมอบอ่างทองและให้แม่นมไปดูแล พร้อมทั้งสั่งให้คอยจับผิดพระเจ้าสิโสรให้ได้ เหล่าแม่นมพยายามหาทางจับผิดแต่ไม่อาจหาโทษเรื่องใดได้ จึงแสร้งบริภาษเปรียบเปรยพระเจ้าสิโสรว่าเป็นพวกจัณฑาลมาจากเมืองอื่นไม่มีผู้ใดรู้จักวงศ์ตระกูล เกียจคร้าน และไม่มีความละอาย ด้วยขัตติยมานะพระเจ้าสิโสรจึงสุดจะอดกลั้นได้ จึงคิดจะไปแต่นางสุทัตตเทวีได้อ้อนวอนขอร้องให้เห็นแก่นางและโอรส พระเจ้าสิโสรจึงใจอ่อนฝืนทนต่อคำบริภาษของทาสีต่อไป
ต่อมาเหล่าแม่นมได้วางอุบายแสร้งทิ้งพระโอรสไว้ไม่ให้นมและอาหาร พระโอรสจึงร้องไห้เพราะความหิว พระเจ้าสิโสรเห็นพระโอรสร้องไห้ไม่หยุดจึงนำไปอาบน้ำในอ่างทองจนพระโอรสอารมณ์ชื่นบานหยุดร้องไห้ได้ แต่เหล่านางนมสบโอกาสกล่าวโทษพระเจ้าสิโสรที่ถูกน้ำกระเซ็นเปียกว่าอาจเอื้อมอาบน้ำในอ่างทองร่วมกับพระโอรส
พระเจ้ากินนุวัตตราชจึงให้นำตัวพระเจ้าสิโสรมาลงโทษ เมื่อพระเจ้าสิโสรมาอยู่เบื้องหน้าพระเจ้ากินนุวัตตราชก็ทรงยืนเฉยไม่น้อมไหว้ โดยอ้างว่าตนเป็นนักโทษหากไหว้จะไม่เป็นมงคลแก่พระเจ้ากินนุวัตตราช พระเจ้ากินนุวัตตราชได้ฟังคำดังกล่าวก็ทรงชื่นชมพระเจ้าสิโสรที่ฉลาดเฉลียวแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่คนสามัญ จึงทรงไต่ถามชื่อและที่มา เมื่อพระเจ้าสิโสรบอกชื่อและบอกว่าเป็นพระราชาครองเมืองอนันตนคร พระเจ้ากินนุวัตตราชตกใจมาก ทรุดตัวลงแทบเท้าพระเจ้าสิโสรทันที และกล่าวขออภัยโทษต่อพระเจ้าสิโสร และเชิญพระเจ้าสิโสรขึ้นนั่งราชบัลลังก์ พระเจ้าสิโสรทรงเล่าเรื่องราวความเป็นมาให้พระเจ้ากินนุวัตตราชฟัง พระเจ้ากินนุวัตตราชรับฟังด้วยความเห็นใจอย่างยิ่ง จึงขอให้พระเจ้าสิโสรขึ้นเป็นพระราชาปกครองเมืองอจลนคร
ครั้นบาปเคราะห์บรรเทาลงแล้ว ของต่างๆ ที่ชาวนาชิงไปก็กลับมาดังเดิม ชาวนาทั้งหลายร้อนใจเห็นเป็นของกษัตริย์จึงนำมาถวายแด่พระเจ้ากินนนุวัตตราช พระเจ้าสิโสรอภัยโทษแก่ชาวนา พร้อมทั้งนิมนต์ภิกษุและสามเณรที่เคยช่วยเหลือตนมารับภัตตาหาร และสั่งให้ปฏิสังขรณ์วัด แล้วรับสามเณรเป็นราชบุตร จากนั้นส่งสารถึงนางอนันตราชเทวีมเหสีว่าปลอดภัย
นางอนันตราชเทวีจัดขบวนเกียรติยศไปรับเสด็จพระเจ้าสิโสร พระเจ้าสิโสรจึงพานางสุทัตตเทวีและโอรสกลับเมืองอนันตนคร และทรงแต่งตั้งนางอนันตราชเทวีเป็นมเหสีฝ่ายขวา และนางสุทัตตเทวีเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย นับแต่นั้นมาพระเจ้าสิโสรได้ทำทานและรักษาศีลเป็นนิตย์ และชักชวนให้ชาวเมืองทำทานและรักษาศีล เมืองอนันตนครจึงร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา เมื่อพระเจ้าสิโสรสิ้นอายุจึงไปเกิดบนสวรรค์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory