TLD-003-4534
สีลวะ (ชื่อตัวละคร)
มหาสีลวชาดก นิบาตชาดก
สีลวะเป็นตัวละครในเรื่องมหาสีลวชาดก เอกนิบาต ในนิบาตชาดก
ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นโอรสทรงนามว่าสีลวะ เมื่อเจริญวัยอายุได้ 16 ปีก็สำเร็จศิลปศาสตร์ทั้งมวล เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ก็ขึ้นครองราชย์แทนทรงพระนามว่ามหาสีลวราช* ทรงตั้งอยู่ในธรรม โปรดให้สร้างศาลาทาน 6 แห่ง บริจาคทานแก่คนอนาถากำพร้าอยู่เป็นนิตย์ ทรงรักษาศีลและสมาทานอุโบสถศีล มีพระหฤทัยกอปรด้วยขันติ เมตตา กรุณา ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ให้มีความสุขเหมือนบิดาเลี้ยงดูบุตร
ครั้งนั้นมีอำมาตย์ผู้หนึ่งประพฤติผิดด้วยนางฝ่ายใน มีผู้ทูลให้ทรงทราบ พระเจ้ามหาสีลวราชทรงทราบเหตุ ให้หาอำมาตย์นั้นมาเฝ้า แล้วทรงสั่งเนรเทศทั้งครอบครัว อำมาตย์นั้นก็ออกจากแคว้นกาสีไปถึงโกศลชนบท เข้ารับราชการจนมีตำแหน่งเป็นคนรับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าโกศล* วันหนึ่งอำมาตย์ทูลพระเจ้าโกศลว่าพระราชาเมืองพาราณสีอ่อนแอ หากพระองค์ยกทัพไปเพียงกองทัพเล็กๆ ก็จะยึดเมืองและราชสมบัติได้ พระเจ้าโกศลฟังแล้วเกิดระแวงว่านครพาราณสีเป็นเมืองใหญ่ เหตุใดอำมาตย์จึงให้ยกกองทัพขนาดเล็กไป สงสัยว่าชายผู้นี้จะเป็นคนที่พระเจ้ามหาสีลวราชส่งมาสอดแนม จึงทรงถามว่าเป็นคนสอดแนมหรืออย่างไร อำมาตย์ผู้นั้นปฏิเสธและบอกว่าถ้าไม่เชื่อให้ลองส่งโจรไปปล้นปัจจันตคาม (หมู่บ้านปลายเขตแดน) พระเจ้ามหาสีลวราชก็จะให้กองทัพจับตัวแล้วประทานพระราชทรัพย์ปล่อยตัวกลับมา พระเจ้าโกศลทรงสงสัยจึงทดลองส่งราชบุรุษให้ปลอมเป็นโจรไปปล้นปัจจันตคามของพระเจ้าพาราณสี พลโยธาจับได้นำไปถวายพระเจ้าพาราณสี ทรงถามว่าเหตุใดจึงมาปล้น โจรทูลว่าไม่สามารถหาเลี้ยงชีพทางอื่นได้จึงต้องประพฤติเป็นโจร รับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นควรมาหาพระองค์ ต่อไปนี้อย่าประพฤติเช่นนั้นอีก ประทานทรัพย์แล้วปล่อยตัวไป เมื่อคนเหล่านั้นกลับมาทูลพระเจ้าโกศลก็ยังไม่แน่พระทัยจึงส่งกองโจรเข้าปล้นเขตชนบทชั้นกลาง พระเจ้าพาราณสีก็ประทานทรัพย์ปล่อยตัวไป และเมื่อให้โจรไปปล้นถึงถนนในพระนครอีก พระเจ้ามหาสีลวราชก็ทรงกระทำเช่นเดิม พระเจ้าโกศลจึงกรีธาทัพไปเมืองพาราณสี ครั้งนั้นพระเจ้าพาราณสีมีกองทัพนับพันล้วนองอาจกล้าหาญชำนาญการต่อสู้ ไม่กลัวตาย ไม่ถอยหนีอันตรายใดๆ เมื่อได้ข่าวศึกพระเจ้าโกศล นายทัพก็อาสาจะออกไปต่อสู้ พระเจ้ามหาสีลวราชทรงห้ามไว้ แล้วบอกให้พระเจ้าโกศลมายึดราชสมบัติตามพระทัย พระเจ้าโกศลก็เข้ามายึดเมืองจับพระเจ้ามหาสีลวราชมัดพร้อมอำมาตย์อีก 1,000 คนนำไปฝังที่ป่าช้า ขุดหลุมฝังให้เหลือแค่คอแล้วกลบดินให้แน่น ในเวลากลางคืนสุนัขจิ้งจอกจะมากัดกิน ราษฎรรู้ว่าพระราชาถูกจับฝังเช่นนั้นก็ตกใจ พากันหนีออกจากเมือง
พระเจ้ามหาสีลวราชมิได้ทรงอาฆาตพระเจ้าโกศล กลับแผ่เมตตาให้และกำชับอำมาตย์ของพระองค์ให้แผ่เมตตาจิตอย่างมั่นคง ตกกลางคืนฝูงสุนัขจิ้งจอกพากันมา พระเจ้ามหาสีลวราชและอำมาตย์ร้องตวาดขึ้นพร้อมกัน สุนัขวิ่งหนีไป วิ่งกลับไปกลับมาถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 สุนัขมาอีก ตัวจ่าฝูงกระโดดเข้ากัดพระราชา ส่วนสุนัขอื่นๆ เข้ากัดเหล่าอำมาตย์ พระราชาทรงใช้พระหนุ (คาง) หนีบคอสุนัขไว้แน่น ดิ้นไม่หลุด สุนัขจ่าฝูงร้องเสียงดังด้วยความกลัวตาย สุนัขอื่นๆ จึงวิ่งหนีไป จ่าฝูงตะกุยดินจนหลุมที่กลบไว้นั้นเขยื้อนได้ พระเจ้ามหาสีลวราชจึงเสด็จออกจากหลุมได้ แล้วขุดคุ้ยหลุมอำมาตย์ต่างๆ ออกมาได้ พระองค์และอำมาตย์ก็อาศัยอยู่ในป่าช้านั้น
ครั้งนั้นมนุษย์ทั้งหลายนำศพไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบศพหนึ่ง ซึ่งใกล้กับที่ที่ยักษ์ 2 ตนสิงสถิตอยู่ ยักษ์ทั้งสองไม่สามารถจะแบ่งศพกินกันได้ เกิดวิวาทกันขึ้น จึงไปเฝ้าพระเจ้ามหาสีลวราชผู้ทรงธรรม ขอให้ช่วยแบ่งศพให้ พระเจ้ามหาสีลวราชกล่าวว่าพระองค์จะแบ่งให้ แต่ขณะนี้พระวรกายยังไม่บริสุทธิ์ อยากจะอาบน้ำชำระกายให้บริสุทธิ์เสียก่อน ยักษ์ทั้งสองไปนำน้ำเย็น ผ้าสาฎก เครื่องหอมทั้งสี่ พระกระยาหาร น้ำเสวย รวมทั้งหมากหอมอันล้วนเป็นของพระเจ้าโกศลราชมาถวาย ต่อจากนั้นยักษ์ถามว่าต้องการสิ่งใดอีก พระเจ้ามหาสีลวราชขอให้ไปนำพระขรรค์มงคลที่วางเหนือพระเศียรพระเจ้าโกศลมาให้พระองค์ เมื่อได้พระขรรค์มาแล้วก็ทรงผ่าซากศพตั้งแต่กลางศีรษะตลอดลงไปให้ขาดเป็น 2 ซีกแบ่งให้ยักษ์ตนละส่วนเท่าๆ กัน ทรงล้างพระขรรค์เหน็บไว้ ยักษ์กินอิ่มแล้วก็ถามว่าจะให้ทำอะไรอีก พระเจ้ามหาสีลวราชบอกว่าให้นำพระองค์ไปในห้องบรรทมของพระเจ้าโกศลราช และพาอำมาตย์ทุกคนไปส่งบ้าน ยักษ์ก็ทำตามนั้น พระเจ้ามหาสีลวราชทรงพินิจพระเจ้าโกศลซึ่งบรรทมหลับอยู่ แล้วทรงใช้พระแสงขรรค์ด้านแบนตีลงที่พระอุระของพระเจ้าโกศลราช พระเจ้าโกศลราชตกพระทัยตื่นขึ้น ได้ฟังเรื่องทั้งหมดจากพระเจ้ามหาสีลวราชก็สลดพระทัยที่แม้แต่ยักษ์ยังรู้จักคุณของพระองค์จึงถวายราชสมบัติคืน โปรดให้ลงโทษอำมาตย์ผู้ทำการยุยงนั้น แล้วเสด็จยกพลกลับพระนคร
พระเจ้ามหาสีลวราชเสด็จประทับบนบัลลังก์ทองทอดพระเนตรสมบัติของพระองค์แล้วทรงพระดำริว่าการได้ราชสมบัติคืน ได้ชีวิตอำมาตย์ทั้งพันคืนมา ทั้งหมดนี้ด้วยอาศัยความเพียร หากไม่มีความเพียรก็จะไม่ได้อะไรเลย จึงทรงเห็นว่าบุคคลควรทำความเพียรให้ติดต่อกันโดยไม่ขาดสาย ไม่ย่อท้อในการทำความเพียร เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory