TLD-003-4542
สีหนาทกุมาร (ชื่อตัวละคร)
สีหนาทชาดก ปัญญาสชาดก
สีหนาทกุมารเป็นตัวละครในเรื่องสีหนาทชาดก ในปัญญาสชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นบุตรนางสุญภาคี*
พระอินทร์เห็นควรเชิญพระโพธิสัตว์ไปปราบยักษ์บริวารของท้าวเวสสวัณที่กำลังทำให้มนุษย์เดือดร้อน พระอินทร์เห็นว่านางสุญภาคีซึ่งเป็นผู้ที่จะได้เป็นพุทธมารดาในอนาคตสมควรเป็นมารดาของพระโพธิสัตว์ พระอินทร์จึงขอให้วลาหกเทพบุตรผู้จะได้เป็นพุทธบิดาในอนาคตแปลงเป็นช้างลงมาประทับรอยเท้าไว้ในที่นาในเมืองพรหมวดีของนางสุญภาคี และเมืองอื่นๆ อีก 5 เมือง คือสังกัสนคร* สหัสสนคร* เชฏฐปูรนคร* รัมมปูรนคร* และพาราณสี* นางสุญภาคีได้ดื่มน้ำในรอยเท้าช้างนั้นจึงตั้งครรภ์ เมื่อคลอดบุตรมานางจึงให้ชื่อว่าหัตถิบุตตกุมารที่มีร่างกายแข็งแรง เลี้ยงง่าย และมีราศีดี
ครั้นหัตถิบุตตกุมาร*อายุได้ 7 ปีก็มีกำลังมหาศาล เมื่อตามมารดาออกไปป่าได้พบยักษ์ตนหนึ่งซึ่งจะจับตนและมารดากินเป็นอาหาร หัตถิบุตตกุมารจึงใช้มือฟาดยักษ์พร้อมเปล่งเสียงอันดังออกไป ยักษ์ตกใจเสียงอันทรงพลังนั้นจนไม่กล้าเข้าใกล้ หัตถิบุตตกุมารจึงได้กระโดดขึ้นบ่ายักษ์และจิกศีรษะพร้อมกับข่มขู่จนยักษ์ยอมจำนน และปฏิญาณตนว่าจะไม่กินมนุษย์เป็นอาหารอีก นับแต่นั้นมามารดาจึงตั้งชื่อใหม่ว่า สีหนาทกุมาร
เมื่อสีหนาทกุมารอายุ 15 ปีได้ถามถึงบิดา มารดาจึงเล่าเรื่องให้ฟัง สีหนาทกุมารจึงต้องการเห็นรอยเท้าช้างที่เป็นประหนึ่งบิดาของตน เมื่อได้เห็นรอยเท้าช้างแล้วก็มีความคิดที่จะตามรอยเท้าช้างให้พบช้างที่เปรียบเป็นบิดา แม้มารดาจะขอร้องห้ามปรามอย่างไร สีหนาทก็ยืนยันความตั้งใจของตน และพามารดาไปฝากไว้ที่ราชสำนักของพระเจ้าพรหมทัตซึ่งยินดีรับนางสุญภาคีไว้ ด้วยมีความเกื้อหนุนกันมาแต่กาลก่อน
สีหนาทกุมารเดินทางตามรอยเท้าช้างไปถึงเมืองสังกัสนคร ได้พบพลังกกุมาร* และได้ประลองกำลังชนะพลังกกุมาร สีหนาทกุมารจึงมีพลังกกุมารยอมติดตามรับใช้ แล้วเดินทางตามรอยเท้าช้างต่อไปจนถึงเมืองสหัสสบุรี ได้พบเตชกุมาร* สีหนาทกุมารได้ประลองกำลังชนะเตชกุมารจึงได้เตชกุมารเป็นผู้ติดตามอีกคนหนึ่ง สีหนาทพร้อมทั้งพลังกกุมารและเตชกุมารเดินทางไปถึงแดนยักษ์ที่มีอาวุธทิพย์เป็นกระด้งเหล็กซึ่งได้จากท้าวเวสสวัณ เมื่อใช้ครอบสิ่งมีชีวิตใดสิ่งนั้นก็จะตายทันที และไม้เท้าที่เมื่อชี้ทางโคนจะทำให้ตาย เมื่อชี้ทางปลายจะทำให้เป็น
พลังกกุมารและเตชกุมารพยายามช่วยกันจับจิ้งหรีดยักษ์มาเป็นอาหารแต่จับไม่ได้ สีหนาทกุมารจึงทดลองจับบ้างและสามารถจับจิ้งหรีดยักษ์หักขาได้ พลังกกุมารและเตชกุมารจึงไปหาไฟมาย่างจิ้งหรีดโดยไม่ได้บอกสีหนาทกุมารเพราะมั่นใจว่าตนมีกำลังดูแลตนเองได้ สีหนาทกุมารเห็นทั้งสองหายไปนานจึงออกตามหาจนพบว่าถูกยักษ์ใช้ไม้เท้าชี้จนตายและกำลังจะกินเป็นอาหาร เมื่อยักษ์เห็นสีหนาทกุมารจึงจะใช้กระด้งเหล็กครอบ แต่สีหนาทกุมารได้ต่อยจนกระด้งเหล็กแตกเป็นจุณ และเปล่งเสียงอันดังให้คืนพลังกกุมารและเตชกุมารมาให้ตน ยักษ์ได้ยินเสียงก็ตัวสั่นหมอบแทบเท้าสีหนาทกุมารและได้มอบไม้เท้าทิพย์ให้แก่สีหนาทกุมาร สีหนาทกุมารจึงแสดงธรรมเรื่องศีล 5 ยักษ์มีจิตเลื่อมใสยิ่งจึงต้องการละสังขารจากยักษ์ เพราะด้วยอานิสงส์ของศีล 5 ตนจะได้ไปเกิดในสวรรค์ สีหนาทกุมารจึงให้เตชกุมารใช้โคนไม้เท้าชี้ยักษ์จนตายแล้วได้ไปเกิดยังดาวดึงส์ตามความปรารถนา
สีหนาทกุมาร พลังกกุมาร และเตชกุมารเดินทางตามรอยเท้าช้างต่อไปจนถึงเชฏฐปูรนครซึ่งเป็นเมืองร้างเพราะยักษ์มาจับมนุษย์และสัตว์กิน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตได้พากันไปหลบซ่อนหมด สีหนาทให้พลังกกุมารใช้ไม้เท้าสังหารยักษ์ เมื่อพระราชาเชิญสีหนาทกุมารครองเมืองเชฏฐปูรนคร สีหนาทให้พลังกกุมารครองเมืองแทน แล้วเดินทางพร้อมกับเตชกุมารตามรอยเท้าช้างต่อไปจนถึงเมืองรัมมปูรนครที่เป็นเมืองร้างเพราะยักษ์เข้ามาจับผู้คนในเมืองกิน สีหนาทกุมารให้เตชกุมารใช้ไม้เท้าสังหารยักษ์ เมื่อพระราชาขอให้สีหนาทกุมารครองเมืองรัมมปูรนคร สีหนาทกุมารให้เตชกุมารครองเมืองแทน
สีหนาทตามรอยเท้าช้างแต่ลำพังจนถึงเมืองพาราณสี ได้อาศัยอยู่ในบ้านยายเฒ่าคนหนึ่ง นางได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองพาราณสีว่าพระราชาเคยจะถูกยักษ์จับกินแต่ได้สัญญากับยักษ์ว่าจะส่งนักโทษให้กินแทนตนทุกวัน ยักษ์จึงยอมปล่อยตัวพระราชา แต่ครั้นนักโทษหมด ยักษ์จึงขอให้พระราชาส่งศพย่างให้กินแทน เมื่อศพหมดแล้ว พระราชาจึงต้องยอมสละชีวิตแทนเพื่อไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน แต่พระธิดาสุวรรณพิมพา*ได้ขอสละชีวิตเป็นอาหารของยักษ์แทนพระบิดา เมื่อสีหนาทได้ฟังก็ต้องการช่วยนางสุวรรณพิมพา จึงเดินทางไปยังศาลาที่ยักษ์จะมากินนางสุวรรณพิมพา สีหนาทกุมารปลอบให้นางคลายความกลัว จนกระทั่งยักษ์มาถึง สีหนาทกุมารจำได้ว่าเป็นยักษ์ตนเดียวกับที่ตนเคยเอาชนะได้เมื่อตอนอายุ 7 ปี จึงขู่ตวาดที่ยักษ์ผิดคำสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะไม่กินมนุษย์อีก แต่ยักษ์แก้ตัวว่าตนสัญญาว่าจะไม่กินมนุษย์ในเขตแดนของสีหนาทกุมาร แต่ถ้าแดนนี้เป็นของสีหนาทกุมารตนก็ขอรับผิดให้ประหารตนเสีย
สีหนาทกุมารเห็นยักษ์สำนึกผิดจึงให้ยักษ์ไปชำระร่างกายให้สะอาด จากนั้นสีหนาทได้แสดงธรรมเรื่องศีล 5 ว่าอานิสงส์ของศีล 5 จะทำให้ผู้ปฏิบัติไปสู่สวรรค์ แต่ผู้ที่ละเมิดศีล 5 จะต้องตกนรก ยักษ์ก็เลื่อมใสสมาทานศีล 5 ทันที สีหนาทกุมารเห็นว่ายักษ์มีจิตใจสงบดีแล้วจึงช่วยให้ยักษ์ได้ไปเกิดใหม่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
นางสุวรรณพิมพาซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสีหนาทกุมาร ได้ขอยกให้สีหนาทกุมารเป็นสามีของนาง แต่สีหนาทกุมารปฏิเสธโดยอ้างว่าตนเป็นคนชั้นต่ำไม่คู่ควรกับธิดากษัตริย์ แต่แท้จริงแล้วต้องการพิสูจน์น้ำใจของพระราชาก่อน จึงได้มอบชายผ้าไว้ให้นางสุวรรณพิมพาแล้วจากไป เมื่อพระราชารู้เรื่องจากนางสุวรรณพิมพาแล้วก็ให้ประกาศหาชายหนุ่มที่มีชายผ้าฉีกขาด แต่มีผู้แอบอ้างตัวกันมาก พระราชาจึงเสด็จตามหาเอง โดยไปตามทิศใต้ที่นางสุวรรณพิมพาเห็นว่าสีหนาทกุมารเดินไป จนพบสีหนาทกุมารอยู่ที่เรือนของยายเฒ่า จึงเชิญให้กลับมาอภิเษกกับนางสุวรรณพิมพาและให้ขึ้นเป็นพระราชาครองเมืองพาราณสี
เตชกุมารและพลังกกุมารระลึกถึงสีหนาทกุมารจึงปรึกษากันจะไปสู่ขอนางสุวรรณพิมพาที่เลื่องชื่อเรื่องความงามให้แก่สีหนาทกุมาร จึงพากันยกขบวนทัพมายังเมืองพาราณสี และได้รู้ว่าสีหนาทกุมารอภิเษกกับนางสุวรรณพิมพาและได้เป็นพระราชาครองเมืองพาราณสีแล้ว เตชกุมารและพลังกกุมารจึงได้มอบเครื่องบรรณาการจำนวนมากแก่สีหนาทกุมาร
ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตปรารถนาจะให้สีหนาทขึ้นเป็นพระราชาแทนตน จึงได้เชิญนางสุญภาคีมาบอกว่าจะไปสู่ขอนางสุวรรณพิมพาที่งดงามเลื่องชื่อให้สีหนาทกุมาร และให้นางสุญภาคีไปเมืองพาราณสีด้วย เมื่อนางสุญภาคีและพระเจ้าพรหมทัตไปถึงเมืองพาราณสีจึงได้รู้ว่าสีหนาทกุมารอภิเษกกับนางสุวรรณพิมพาและเป็นพระราชาครองเมืองพาราณสีแล้ว พระเจ้าพรหมทัตเห็นเช่นนั้นจึงคิดว่าเมืองพรหมวดีของตนเป็นเมืองเล็กไม่อาจเทียบเท่าพาราณสีได้ การจะขอให้สีหนาทกุมารกลับไปครองพรหมวดีนครเป็นการไม่สมควร แต่หากมอบเมืองพรหมวดีให้สีหนาทกุมารช่วยปกครองด้วยจะเหมาะสมกว่า
สีหนาทกุมารเป็นพระราชาที่มีเกียรติยศขจรไกล จนบรรดากษัตริย์ทั้งหลายต้องพากันมาน้อมถวายเครื่องบรรณาการทุกปี เหล่ายักษ์ที่ได้พรจากท้าวเวสสวัณก็ไม่อาจรังควานมนุษย์ในเมืองที่อยู่ใต้บุญญาธิการของสีหนาทกุมารได้ จึงถวายพรคืนแก่ท้าวเวสสวัณและยุติการฆ่ามนุษย์ ส่วนพระอินทร์ เหล่าเทวดา และพรหมทั้ง 16 ชั้นก็พากันมาฟังธรรมของสีหนาทกุมารและกลับไปอย่างเบิกบานใจ มนุษย์และเทวดาทั้งหลายที่อยู่ในโอวาทธรรมของสีหนาทกุมารจึงล้วนแล้วแต่มีความสุข
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory