TLD-003-4607
สุธนุ (ชื่อตัวละคร)
สุธนุชาดก ปัญญาสชาดก
สุธนุเป็นตัวละครในเรื่องสุธนุชาดก ในปัญญาสชาดก (สุธนู* ในสุธนูกลอนสวดและสุธนคำฉันท์) เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นโอรสพระเจ้าพรหมทัต*กับนางเกศนี* แห่งเมืองพาราณสี*
พระโพธิสัตว์จุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของนางเกศนีที่ถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อประสูติได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้มีบุญญาธิการ ทั้งรูปลักษณ์อันเป็นมงคล ผิวพรรณดังสีทอง กษัตริย์ทั้งชมพูทวีปนำแก้ว 7 ประการและเครื่องบรรณาการมาน้อมถวาย และเมื่อพราหมณ์ตรวจดวงชะตาแล้ว พบว่าจะได้เป็นใหญ่เหนือทวีปทั้งสี่ และมีความเชี่ยวชาญการธนูเหนือผู้ใด พระเจ้าพรหมทัตจึงได้ตั้งชื่อพระโอรสว่าสุธนุ
เมื่อเจริญวัยพระสุธนุมีรูปโฉมงดงาม ท่วงท่าสง่างาม ทำให้ผู้พบเห็นรักใคร่และเลื่อมใส อีกทั้งยังรอบรู้ในสรรพวิชา โดยเฉพาะทางการธนูเป็นเลิศ พระสุธนุมีม้าคู่ใจชื่อมณีกักขิ* (มณีกักขะ* ในสุธนูคำฉันท์ มณีกาก* ในสุธนูกลอนสวด) ที่มีความพิเศษเหนือม้าอื่นคือพูดได้และเหาะได้ และเป็นผู้พาพระสุธนุไปพบคู่ที่เหมาะสมคือนางจีรัปภา* (จิระประภา* ในสุธนูคำฉันท์) ที่เสตนคร เมื่อพระสุธนุไปถึงเสตนคร ได้แปลงเป็นพราหมณ์เที่ยวไปในนคร เมื่อเดินไปที่ใดก็ได้ยินแต่เสียงสรรเสริญความงามของนางจีรัปภา ทำให้พระสุธนุปรารถนาจะได้ยลโฉมนาง ม้ามณีกักขิจึงอาสาพาไปจนถึงปราสาทชั้นที่ 7 ของนางจีรัปภา พระสุธนุได้เข้าไปในห้องบรรทมและได้พิศโฉมพร้อมรำพันถึงความรักที่มีต่อนาง และก่อนจากไปได้ลูบไล้เครื่องหอมบนตัวนาง และสวมพวงมาลัยข้อมือไว้ให้ พระสุธนุทำเช่นนี้ทุกคืน จนคืนที่ 4 นางจีรัปภากับนางทาสีปทุมาจึงช่วยกันจับตัวพระสุธนุไว้
พระสุธนุอยู่กับนางจีรัปภาอย่างมีความสุข จนความทราบถึงพระเจ้าเสตราชซึ่งกริ้วมาก แต่เมื่อได้เห็นพระสุธนุที่สง่างาม ทั้งพระสุธนุยังได้แสดงความสามารถทางการธนูที่ไม่มีกษัตริย์ใดทัดเทียมได้ พระเจ้าเสตราชจึงพอใจยกนางจีรัปภาให้ พระสุธนุอยู่เสตนครได้ชั่วระยะหนึ่งก็ระลึกถึงพระมารดา จึงพานางจีรัปภานั่งม้ามณีกักขิเหาะกลับไปเมืองพาราณสี ระหว่างทางได้ขอให้ม้ามณีกักขิหยุดพักที่บรรณศาลาของฆันตารยักษ์*เพราะนางจีรัปภาเหนื่อยอ่อนจนเป็นลม ม้ามณีกักขิทัดทานว่าอาจเป็นอันตราย แต่พระสุธนุมั่นใจในฝีมือของตนจึงไม่เชื่อ ทำให้ม้ามณีกักขิถูกฆันตารยักษ์จับไปสาเหตุจากการป้องกันไม่ให้ฆันตารยักษ์จับนางจีรัปภากิน จึงพลาดพลั้งเสียทีแก่ฆันตารยักษ์ พระสุธนุจึงเศร้าเสียใจยิ่งที่ไม่เชื่อคำเตือนของม้ามณีกักขิ และที่สำคัญคือต้องพานางจีรัปภามาลำบาก ทั้งสองได้อาศัยไปกับเรือสินค้า แต่เคราะห์ร้ายเพราะเรืออับปาง พระสุธนุเกาะไม้กระดานคนละด้านกับนางจีรัปภา แต่ถูกคลื่นซัดจนไม้กระดานขาด
พระสุธนุลอยมาถึงฝั่งใกล้ปราสาทของนางอัญชนวดี* (อัญชวดี* ในสุธนูกลอนสวด และสุธนูคำฉันท์) น้องสาวของฆันตารยักษ์ พระสุธนุนั้นแม้จะรักและคิดถึงนางจีรัปภาอยู่เสมอ แต่ด้วยยังอยู่ในวัยหนุ่มอีกทั้งยังมีความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนจึงพร้อมที่จะใช้เสน่ห์ทางรูปลักษณ์ของตนมัดใจหญิงอื่นทั้งเพื่อความรื่นรมย์และเพื่อประโยชน์ของตน เพราะเมื่อได้อาศัยอยู่ในป่ากล้วยพระโอรสได้มีโอกาสพบนางกเรณุวดี*พระญาติที่ถูกฆันตารยักษ์จับมาเป็นบริวารของอัญชนวดี พร้อมกับเหล่าธิดากษัตริย์อีก 16 นาง พระสุธนุมัดใจนางเหล่านี้ไว้เพื่อให้ความรื่นรมย์ และมัดใจนางอัญชนวดีไว้เพื่อประโยชน์ที่จะได้ม้ามณีกักขิกลับคืนมา
พระสุธนุขี่ม้ามณีกักขิหนีจากปราสาทนางอัญชนวดีมาจนถึงอินทปัตราชธานี จึงปลอมเป็นพราหมณ์ออกตามหานางจีรัปภา จนไปถึงศาลาอุมมาทันตี เมื่อเข้าไปพักและได้เดินดูรูปภาพที่เป็นเรื่องราวตั้งแต่การพบกันครั้งแรกของพระองค์กับนางจีรัปภาจนถึงการพลัดพรากกันในทะเล พระสุธนุหัวเราะและร้องไห้สลับกัน คนเฝ้าศาลาก็ไปบอกนางจีรัปภาที่บวชเป็นปริพาชิกา พระสุธนุจึงได้พบนางตามที่ตั้งใจ
เมื่อพระสุธนุพานางจีรัปภากลับไปเมืองพาราณสีเพื่อพบพระมารดาแล้ว ได้หวนนึกถึงนางอัญชนวดีกับนางกเรณุวดี จึงขี่ม้ามณีกักขิหวังไปรับนางทั้งสอง เมื่อฆันตารยักษ์รู้ว่าอัญชนวดีเป็นชายาของพระสุธนุ ก็ไม่หวงห้ามเพราะรักและตามใจน้อง พระสุธนุเห็นฆันตารยักษ์มีจิตใจอ่อนโยนลงจึงให้โอวาทเรื่องอานิสงส์ของศีล 5 ฆันตารยักษ์เลื่อมใสและรับไปปฏิบัติ จากนั้นพระสุธนุจึงรับนางอัญชนวดี นางกเรณุวดี และธิดากษัตริย์ทั้ง 16 นางกลับเมืองพาราณสี ทรงปกครองเมืองโดยธรรมอย่างผาสุกตลอดมา เมื่อสิ้นอายุได้ไปเกิดในพรหมโลก
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory