TLD-003-4666
สุมังคละ (ชื่อตัวละคร)
สุมังคลชาดก นิบาตชาดก
สุมังคละเป็นตัวละครในเรื่องสุมังคลชาดก อัฏฐกนิบาต ในนิบาตชาดก
ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพรหมทัต*ครองเมืองพาราณสี* มีผู้ดูแลอุทยานผู้หนึ่งชื่อสุมังคละ วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งออกจากเขานันทมูลกะไปถึงเมืองพาราณสีและเข้าพักในอุทยาน เวลาเช้าเข้าไปในวังเพื่อบิณฑบาต พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นก็ทรงเลื่อมใส โปรดให้ราชบุรุษไปนิมนต์ขึ้นมาบนปราสาทเพื่อถวายภัตตาหาร ครั้นได้สดับอนุโมทนากถาก็ยิ่งเลื่อมใสมากขึ้นจึงนิมนต์ให้พักอาศัยในอุทยานและให้สุมังคละเป็นผู้อุปัฏฐาก
วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกสุมังคละว่าจะไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งสัก 2 - 3 วันแล้วจะกลับมา ขอให้ทูลพระราชาด้วย สุมังคละก็ทำตาม พระปัจเจกพุทธเจ้ากลับมาถึงอุทยานในเวลาเย็น ขณะนั้นสุมังคละไม่อยู่เพราะกลับไปอยู่บ้าน พระปัจเจกพุทธเจ้าเดินจงกรมครู่หนึ่งแล้วนั่งอยู่บนแผ่นหิน เวลานั้นมีผู้มาหาสุมังคละที่เรือน สุมังคละคิดจะไปยิงเนื้อที่อุทยานเพื่อทำอาหารเลี้ยง เมื่อไปถึงอุทยานเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ไกล เข้าใจว่าเป็นเนื้อตัวใหญ่จึงใช้ธนูยิง พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ถือโทษ บอกให้สุมังคละถอนลูกศรออกแล้วพระองค์ก็นิพพาน สุมังคละกลัวพระราชาจะลงโทษจึงพาบุตรภรรยาหนีไป พระราชาให้เผาสรีระพระปัจเจกพุทธเจ้า เก็บอัฐิธาตุบรรจุเจดีย์ไว้สักการบูชา
สุมังคละหลบอยู่ปีหนึ่งก็อยากรู้ว่าพระราชายังกริ้วอยู่หรือไม่ จึงขอให้อำมาตย์ผู้หนึ่งช่วยสืบดู เมื่ออยู่ใกล้พระราชา อำมาตย์พรรณนาความดีของสุมังคละขึ้น พระราชาทำประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน อำมาตย์จึงไม่ทูลอะไรอีกและกลับมาเล่าให้สุมังคละฟัง สุมังคละรอถึงปีที่ 2 ก็ให้อำมาตย์ทดลองอีก พระราชายังคงนิ่งอยู่ ครั้นถึงปีที่ 3 สุมังคละพาบุตรภรรยากลับมาอยู่ที่เดิม ฝ่ายอำมาตย์รู้ว่าพระราชามีพระทัยอ่อนลงแล้วจึงพาสุมังคละไปพักอยู่ริมประตูวังและเข้าไปทูลพระราชา พระราชาให้สุมังคละเฝ้าและตรัสถามถึงเหตุที่ฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้า สุมังคละทูลว่าไม่ได้เจตนาแต่เข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อจึงยิง พระราชาตรัสปลอบโยนไม่ให้กลัวอีกต่อไปและตั้งให้เป็นผู้ดูแลอุทยานดังเดิม อำมาตย์ทูลถามว่าเหตุใดพระเจ้าพาราณสีฟังเรื่องความดีของสุมังคละถึง 2 ครั้งก็มิได้รับสั่งประการใด แต่เมื่อฟังครั้งที่ 3 ก็รับสั่งให้สุมังคละเข้าเฝ้าและยกโทษให้ พระเจ้าพาราณสีทรงตอบว่าธรรมดาพระราชาพิโรธผู้ใดแล้วไม่ควรด่วนทำโทษผู้นั้น เมื่อแรกพระองค์กริ้วอยู่จึงนิ่งไว้ก่อน ครั้นวาระที่ 3 รู้สึกพระองค์ว่าความโกรธลดลงจึงให้หาสุมังคละมาไต่ถามเพื่อให้ได้ความชัดแจ้ง พระเจ้าพาราณสีกล่าวถึงราชวัตรตามแบบโบราณว่าพระราชาผู้ทรงธรรมย่อมพิจารณาก่อนจึงลงอาญาโดยสมควรแก่โทษและด้วยความปรานี ข้าราชบริพารทั้งปวงรวมทั้งสุมังคละพากันสรรเสริญพระเจ้าพาราณสีว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติคือตั้งมั่นอยู่ในโบราณราชวัตร ปกครองแผ่นดินโดยธรรม เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วย่อมไปสู่สุคติแน่นอน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory