TLD-003-4704
สุรัพภกุมาร (ชื่อตัวละคร)
สุรัพภชาดก ปัญญาสชาดก
สุรัพภกุมารเป็นตัวละครในเรื่องสุรัพภชาดก ในปัญญาสชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นโอรสพระเจ้าโสไรย*แห่งไถยนคร* แคว้นกาสิก*
พระเจ้าโสไรยทรงตั้งสุรัพภกุมารเป็นอุปราช แต่สุรัพภกุมารเบื่อหน่ายทางโลกจึงทูลขอพระบิดาออกบวชรักษาศีลในป่าหิมพานต์ ครั้งแรกพระบิดาได้ทัดทาน แต่เมื่อสุรัพภกุมารอ้อนวอนจึงยินยอมโดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ต้องสึกกลับมาครองราชย์
สุรัพภกุมารออกจากเมืองไปแต่ลำพัง ระหว่างทางได้พบชาย 2 คนที่ถกเถียงกันเรื่องที่คนหนึ่งยิงนกยางได้ แต่อีกคนหนึ่งอ้างว่านกยางเป็นบิดาของตน คนที่ยิงนกยางได้จึงแย้งว่าเพราะนกยางนั้นกินปลาที่เป็นแม่ของตนก่อน สุรัพภกุมารจึงช่วยตัดสินความโดยให้ผู้ที่อ้างว่านกยางเป็นบิดาบินดั่งนกยาง และผู้ที่อ้างว่าปลาเป็นแม่ให้ดำน้ำลงไปดั่งปลา เพราะผู้ที่เป็นบุตรย่อมทำอาการเช่นเดียวกับบิดามารดาได้ ชายทั้งสองไม่สามารถทำได้ สุรัพกุมารจึงให้สมาทานศีล 5 เพื่อต่อไปจะได้ไม่พูดปดอีก และสุรัพภกุมารยังสั่งสอนชายทั้งสองให้รู้จักเลือกคบคน โดยยกนิทานเป็นอุทาหรณ์
นิทานเรื่องแรกเป็นเรื่องการคบคนพาลที่แสดงให้เห็นว่าการคบคนพาลจะนำไปสู่ความพินาศ เหมือนดังบัณฑิตคนหนึ่งให้คนพาล 4 คนทำงานในเรือนของตน คือเป็นคนเลี้ยงบุตร คนเฝ้าประตู คนครัว และคนติดตาม บัณฑิตจึงต้องสูญเสียทรัพย์สิน บ้านและบุตรเพราะความเบาปัญญาของคนเหล่านี้
นิทานเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องการคบบัณฑิตที่แสดงให้เห็นว่าการคบบัณฑิตจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเหมือนพระราชาผู้ครองเมืองพาราณสีประสงค์จะหนีไปอยู่เมืองอื่นเพราะรู้ว่านางเขมาผู้เป็นมเหสีเป็นชู้กับเสนาบดี จึงปรึกษาปุโรหิตว่าจะนำคนเช่นไรไปกับพระองค์ด้วย ปุโรหิตทูลให้นำบุรุษที่มีกำลังมาก ช่างทอง บุรุษผู้พิจารณาความ และบุรุษผู้มีปัญญารู้ทางได้ทางเสียร่วมทางไป พระราชาจึงเดินทางไปพร้อมกับบุรุษทั้งสี่ตามที่ปุโรหิตแนะนำ พระราชาได้ใช้ความสามารถที่แตกต่างกันของคนเหล่านี้แก้ปัญหาต่างๆ และในที่สุดด้วยปัญญาและความสามารถของคนเหล่านี้ พระราชาจึงได้เป็นพระราชาของอีกเมืองหนึ่ง
นิทานเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของวิธูรบัณฑิต*และโชติกุมาร*กับพระราชาเมืองพหล*ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่คบหากับบัณฑิตจะเป็นประโยชน์ทำให้พ้นภัยพิบัติ และสุรัพภกุมารยังชี้ให้เห็นว่าบุรุษไม่ควรคบแต่บุรุษที่เป็นบัณฑิตเท่านั้น แต่ควรคบนารีที่เป็นบัณฑิตด้วยจึงจะได้ประโยชน์บริบูรณ์ ดังนิทานเรื่องที่ 4 เป็นเรื่องของจัณฑราชา*กับบัณฑิตนารี* จัณฑราชานั้นเป็นผู้มีโทสจริตครอบงำ จึงทำให้ทำร้ายคนอื่นได้โดยง่ายเพียงผู้นั้นทำสิ่งที่ไม่ถูกใจเพียงเล็กน้อย แต่บัณฑิตนารีสามารถกล่อมเกลาจิตใจของจัณฑราชาให้อ่อนโยนลงด้วยนิทานอุทาหรณ์เรื่องเวชกุมารที่มีนางกัลยานีผู้มีปัญญาและซื่อสัตย์เป็นมเหสี และเรื่องพระเจ้าเวชมาทิตที่มีอำมาตย์ที่มีปัญญาเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด และบัณฑิตนารียังสามารถโน้มนำให้จัณฑราชาเปลี่ยนเป็นธรรมราชาได้ในที่สุด
เมื่อสุรัพภกุมารได้ย้ำให้ชายทั้งสองเห็นว่า การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต และการบูชาคนที่ควรบูชาเป็นเรื่องที่บุคคลควรกระทำด้วยนิทาน 4 เรื่องแล้ว ชายทั้งสองก็ละมิจฉาทิฐิ ลาสุรัพภกุมารไปด้วยจิตผ่องแผ้ว
สุรัพภกุมารเดินทางต่อไปจนเข้าไปในอารามอัมพลิตถิ ได้ยินเสียงร่ำไห้ของสุจินกฎุมพี*จึงได้เข้าไปไต่ถาม เมื่อรู้เรื่องทั้งหมดจากพระสุทัตว่าสุจินกฎุมพียักยอกทองคำของตนไปโดยเปลี่ยนเป็นทองแดงแทน ตนจึงได้ทำอุบายว่าบุตรของสุจินกฎุมพีที่ตนพาไปต่างเมืองด้วยนั้นกินผลไม้ในป่าแล้วกลายเป็นลิง สุรัพภกุมารจึงได้ช่วยตัดสินความให้ว่าถ้าสุจินกฎุมพีทำทองแดงกลายเป็นทองคำได้ ตนก็ทำลิงให้กลายเป็นมนุษย์ได้ สุจินกฎุมพีจึงยอมนำทองคำมาคืนแก่พระสุทัต
สุรัพภกุมารเดินทางต่อไปและพักอยู่ในอาศรมที่พระอินทร์ให้พระวิสสุกรรมสร้างเตรียมไว้ให้ ในขณะที่นั่งในอาศรมนั้น ได้มีกา ปูทอง กระต่าย พรานป่า นกยูง ลิง เสือโคร่ง กินนร และเทวดาเข้ามาพบเพื่อให้ช่วยไขปัญหา 20 ข้อที่ปูทองถามกา แต่คำตอบของกานั้น ปูทองเห็นว่าไม่ถูกต้อง กาจึงไปถามสหายที่พามาด้วย ซึ่งตอบเหมือนกันกับกา ทั้งหมดจึงพากันมาหาสุรัพภกุมารให้ช่วยไขปัญหา
สุรัพภกุมารไขปัญหาทั้ง 20 ข้อว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ คือทุกข์ที่เกิดจากขันธ์ 5 และทุกข์ที่เกิดจากอบาย 4 สิ่งใดเป็นสุขคือวิเวกธรรม คือละจากความพยาบาทและกามราคะ สิ่งใดอยากมากคือผู้ที่ไม่ใช่สัปบุรุษย่อมอยากทำแต่บาปกรรม แต่ผู้ที่เป็นสัปบุรุษย่อมอยากทำแต่บุญกุศล สิ่งใดสีงามคือสีของแสงแห่งพระรัตนตรัย สิ่งใดไม่ใช่สี่งามคือโมหะที่ขัดขวางสติ โทสะที่ขัดขวางขันติ ความตระหนี่ที่ขัดขวางทาน และความไม่ละอายที่ขัดขวางศีล สิ่งใดใหญ่คือใจของสรรพสัตว์ที่มีโลภราคะ สิ่งใดสูงคือนิพพานมรรค สิ่งใดร้อนคือไฟภายใน 3 กอง ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะที่ร้อนกว่าไฟนรก สิ่งใดเย็นคือพระพุทธธรรม สิ่งใดละเอียดคือพระพุทธธรรม สิ่งใดมืดคือความมืดในโลกันตนรก ความมืดของอวิชชา และความมืดของโมหะ สิ่งใดสว่างคือผู้ที่ร่ำเรียนพระธรรมและผู้ที่สมาทานศีล สิ่งใดกลิ่นหอมคือศีล สิ่งใดกลิ่นเหม็นคืออกุศล สิ่งใดกำลังมากคือความตาย สิ่งใดไกลคือพระนิพพาน สิ่งใดเร็วมากคือดวงจิตของสรรพสัตว์ สิ่งใดประเสริฐมากคืออริยทรัพย์ 7 ได้แก่ ศรัทธา บริจาค ศีล ปัญญา ความเพียร หิริโอตัปปะ และสมาธิ สิ่งใดเป็นแก่นสารคือทาน ศีล และภาวนา สิ่งใดเป็นรสอร่อยคือรสของพระธรรม
เมื่อสุรัพภกุมารไขปัญหาทั้ง 20 ข้อนี้แล้ว เทวดาได้แซ่ซ้องสาธุการพร้อมโปรยปรายบุปผชาติเป็นเครื่องบูชา สัตว์ทั้งหลายที่ร่วมฟังการไขปัญหาต่างก็อิ่มเอิบในรสของพระธรรมเทศนาที่สุรัพภกุมารแสดง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory