TLD-003-4755
สุวรรณสิรสา (ชื่อตัวละคร)
สุวรรณสิรสาชาดก ปัญญาสชาดก
สุวรรณสิรสาเป็นตัวละครในเรื่องสุวรรณสิรสาชาดก ในปัญญาสชาดก เป็นพระโพธิสัตว์
สุวรรณสิรสาเป็นพระโพธิสัตว์จุติมาปฏิสนธิในครรภ์หญิงจัณฑาล เมื่ออยู่ในครรภ์ได้ 5 เดือน บิดาก็เสียชีวิต พระโพธิสัตว์เห็นว่าหากออกจากครรภ์มารดาเป็นทารกปกติ มารดาจะเลี้ยงดูลำบาก จึงอธิษฐานขอให้กายเข้าไปอยู่ในศีรษะ เมื่อออกจากครรภ์มารดาจึงมีแต่ศีรษะที่เปล่งปลั่งดั่งทองชมพูนุท มารดาเห็นเช่นนั้นจึงอับอายมิให้ใครได้เห็นทารก แต่ก็ทะนุถนอมเลี้ยงดูอย่างดี ด้วยบุญญาธิการของสุวรรณสิรสาและความกตัญญูที่มีต่อมารดา แม้ยังเป็นเด็กเล็กก็สามารถทำงานของผู้ใหญ่ได้ดี เพราะเมื่อมารดาออกไปเลี้ยงโคกระบือ สุรรณสิรสาก็ออกจากศีรษะมากวาดเรือน หุงข้าว ต้มแกงไว้ให้มารดา และต่อมาก็ให้มารดานำตนใส่ถาดออกไปไว้ที่โคนต้นไม้ในทุ่งนาเพื่อช่วยเลี้ยงโคกระบือแทนมารดา ด้วยอานุภาพของสุวรรณสิรสา ถาดไม้ก็กลายเป็นถาดทอง เงาไม้ก็ไม่เปลี่ยนคล้อยไปและโคกระบือก็ไม่เดินไปไกล
เมื่อสุวรรณสิรสาอายุได้ 7 ปี ได้ขอให้มารดาไปยืมทองนายบ้าน 500 ตำลึงเพื่อทำการค้าขาย บุญญาธิการของสุวรรณสิรสาที่แผ่ไปคุ้มครองมารดาทำให้นายบ้านเมตตาให้ยืมโดยง่าย และเมื่อสุวรรณสิรสาขอให้มารดาไปขอร้องหัวหน้าพ่อค้าเรือสำเภาพาตนไปค้าขายด้วย พ่อค้าเมตตาก็รับสุวรรณสิรสาลงเรือไป และพ่อค้าในเรือต่างเอ็นดูรักใคร่สุวรรณสิรสาทุกคน
เมื่อเรือสำเภาแล่นไปได้ 7 วันถึงเกาะวาลุกที่มีแต่ดินปนทราย สุวรรณสิรสาขอให้ส่งตนที่เกาะนี้ แม้พ่อค้าจะทัดทานว่ามีแต่ความแห้งแล้งคงไม่มีผู้คนอยู่ให้ค้าขายได้ แต่สุวรรณสิรสายังคงยืนยันที่จะไปเกาะนี้ พ่อค้าจึงส่งสุวรรณสิรสาไว้ที่เกาะวาลุก สุวรรณสิรสาได้นำพืชพันธุ์ต่างๆ เพาะปลูกที่เกาะนั้นจนงอกงามและให้ผลดี มีนางนาค 2 ตัวคือนางปัญจปาปี*และนางปทาริกา*มาเที่ยวเล่นดึงพืชผลที่สุวรรณสิรสาปลูกไว้เสียหาย เมื่อสุวรรณสิรสาแสดงตนเป็นเจ้าของ นางนาคทั้งสองได้กล่าวขอโทษและนำแก้ว 7 ประการและทรัพย์ 216 โกฏิมามอบให้สุวรรณสิรสา
เมื่อเวลาผ่านไปนาน พ่อค้าเดินทางกลับจากค้าขายผ่านมารับสุวรรณสิรสากลับเมืองพาราณสี สุวรรณสิรสาจึงนำทองไปใช้คืนแก่นายบ้าน และให้มารดาได้ใช้จ่ายทรัพย์สินที่หามาได้ เมื่อกลับมาถึงบ้านสุวรรณสิรสารู้ข่าวเรื่องธิดารูปงาม 3 องค์ของพระเจ้าพรหมทัต*คือสุวรรณาเทวี* สุวรรณจันทา* และสุวรรณคันธา* สุวรรณสิรสามีใจปฏิพัทธ์ต่อนางสุวรรณคันธาที่รูปงามที่สุดและเป็นกัลยาณีที่เพียบพร้อม จึงให้มารดาไปขอร้องเสนาบดีให้สู่ขอ มารดาได้ทัดทานว่าสุวรรณสิรสาไม่เหมาะสมกับธิดากษัตริย์ เพราะเกิดในตระกูลจัณฑาลและมีแต่ศีรษะ แต่เมื่อเห็นสุวรรณสิรสาเศร้าเสียใจ มารดาจึงใจอ่อนยอมไปขอร้องเสนาบดีให้ช่วยเหลือ เสนาบดีส่วนใหญ่ปฏิเสธแต่มีคนหนึ่งยอมช่วยเหลือทูลพระราชาขอนางสุวรรณคันธาให้ พระราชากริ้ว จึงกล่าวว่าถ้าสุวรรณสิรสาสร้างสะพานเงินสะพานทองตั้งแต่เรือนของตนจนถึงวังได้จึงจะยกพระธิดาให้
สุวรรณสิรสาได้ตั้งสัจจาธิษฐานว่าตนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าจริง มีความกตัญญูต่อมารดาจริง และบำเพ็ญบารมีสามสิบทัศจริง จึงขอให้สะพานเงินสะพานทองบังเกิดขึ้น ด้วยอานุภาพคำอธิษฐานทำให้ร้อนถึงพระอินทร์ จึงให้พระวิสสุกรรมลงมาเนรมิตสะพานเงินและสะพานทองให้ พระเจ้าพรหมทัตเห็นสะพานเงินและสะพานทองแล้วคิดว่าสุวรรณสิรสาเป็นผู้มีบุญมาก จึงไปรับสุวรรณสิรสาที่เรือน เพียงได้เห็นสุวรรณสิรสามีศีรษะงามดังผอบทองคำชมพูนุทก็เกิดความรักใคร่ แล้วอภิเษกสุวรรณสิรสากับนางสุวรรณคันธาอย่างยิ่งใหญ่
ต่อมาพระเจ้าพรหมทัตออกประพาสอุทยาน ทุกคนตามเสด็จ เว้นแต่สุวรรณสิรสาและนางสุวรรณคันธา เพราะนางสุวรรณคันธาอับอายที่มีสามีรูปวิกล สุวรรณสิรสาจึงปลอบนางและได้ออกจากศีรษะมีรูปงามดังเทพบุตร แต่สุวรรณสิรสาสั่งนางไม่ให้บอกผู้ใด แล้วสุวรรณสิรสาจึงขี่ม้าไปรออยู่ที่อุทยาน พระเจ้าพรหมทัตเข้าใจว่าสุวรรณสิรสาเป็นเทวดาจึงเข้าไปกราบไหว้ สุวรรณสิรสาแสร้งกล่าวว่าตนเป็นเทวดาลงมาขอเที่ยวชมสวนด้วย
นนท*เสนาบดีเห็นว่าสุวรรณสิรสาและนางสุวรรณคันธาไม่ได้ตามเสด็จไปอุทยาน จึงทูลพระเจ้าพรหมทัตว่าเป็นโอกาสดีที่จะกำจัดสุวรรณสิรสาที่สร้างความอับอายให้แก่บ้านเมือง โดยใช้เหตุของการไม่ตามเสด็จนี้ประหารสุวรรณสิรสาเสีย นางสุวรรณคันธารู้เรื่องจึงต่อว่าพระเจ้าพรหมทัตว่าเมื่อตอนยกนางให้สุวรรณสิรสาทรงรู้ดีว่าสุวรรณสิรสามีรูปร่างวิกล แต่เมื่อนางครองคู่กับสุวรรณสิรสาแล้ว นางก็รักและบูชาสุวรรณสิรสายิ่งชีวิต นางจึงเห็นว่าการประหารชีวิตสามีด้วยข้ออ้างว่าเป็นความอับอายของบ้านเมืองเป็นเรื่องไม่สมควร
นางสุวรรณคันธานำความกลับไปเล่าให้สุวรรณสิรสาฟัง สุวรรณสิรสาปลอบนางว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตนมาจากดาวดึงส์ ไม่ใช่มนุษย์สามัญ ความเดือดร้อนของสุวรรณสิรสาที่จะถูกพระเจ้าพรหมทัตประหารทำให้ร้อนถึงพระอินทร์ พระอินทร์จึงลงมาช่วยด้วยการถามปัญหาพระเจ้าพรหมทัต 4 ข้อพร้อมกับท้าตีคลี หากไขปัญหาไม่ได้จะประหารพระเจ้าพรหมทัต
พระเจ้าพรหมทัตหวั่นวิตกมาก แต่ไม่อาจหาผู้ไขปัญหาได้ พระมเหสีพิมพา*ได้แนะให้ขอความช่วยเหลือจากสุวรรณสิรสา เพราะเคยทำเรื่องที่ยากอย่างสร้างสะพานเงินและสะพานทองได้ พระเจ้าพรหมทัตจึงขอให้สุวรรณสิรสาช่วย สุวรรณสิรสาจึงออกจากศีรษะมีรูปกายดังเทพบุตรและสามารถตอบคำถามพระอินทร์ได้ว่าสิ่งใดที่ไม่แก่ไม่ตายคือตัณหา กิเลส และความตระหนี่ สิ่งใดที่สมมุติว่าเป็นพระราชาคือผู้ที่โลกสมมุติเป็นพระราชาต้องมีสังคหวัตถุ 4 และราชธรรม 10 สิ่งใดที่เรียกว่ากายรถคือกายที่มีอาการ 32 ซึ่งเปรียบเหมือนส่วนต่างๆ ของรถจึงเรียกกายรถ สิ่งใดที่รุ่งเรืองในโลกนี้และสว่างในโลกอื่นคือชนที่เกิดในตระกูลมั่งคั่งแล้วให้ทานด้วยความศรัทธาพร้อมรักษาศีลและเจริญภาวนา คำตอบของสุวรรณสิรสาได้รับการโปรยปรายดอกไม้ทิพย์จากเหล่าเทพ และได้รับการสาธุการจากมหาชนอย่างสนั่นหวั่นไหว และเมื่อสุวรรณสิรสาตีคลีกับพระอินทร์ได้ช่วงเวลาหนึ่งพระอินทร์ก็อันตรธานไป พระเจ้าพรหมทัตยินดีอย่างยิ่งจึงประทานราชสมบัติให้สุวรรณสิรสา
เมื่อสุวรรณสิรสาขึ้นเป็นพระราชาแล้วได้ให้สร้างโรงทาน 6 แห่ง บำเพ็ญบุญและทานต่าง ๆ มีเดชานุภาพแผ่ไพศาลทั่วทั้งชมพูทวีป เมื่อสิ้นอายุจึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory