TLD-003-5102
อลีนจิตตะ (ชื่อตัวละคร)
อลีนจิตตชาดก นิบาตชาดก
อลีนจิตตะเป็นตัวละครในเรื่องอลีนจิตตชาดก ทุกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัต*แห่งเมืองพาราณสี* มีหมู่บ้านช่างไม้แห่งหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองพาราณสี มีช่างไม้ 500 คนเข้าป่าไปตัดไม้มาเพื่อประกอบเป็นเรือนต่าง ๆ ทำเครื่องหมายไว้ที่ไม้ทุกชิ้นแล้วขนลงเรือล่องไปขายในพระนคร วันหนึ่งพวกช่างไม้ไปตัดไม้อยู่ในป่า มีนางช้างตัวหนึ่งเดินไปเหยียบตอไม้ตะเคียนถูกเสี้ยนแข็งในตอไม้ตำเท้า นางช้างเจ็บปวดมากเท้าบวมเป็นหนอง เมื่อได้ยินเสียงคนกำลังตัดไม้ นางช้างจึงเดินมานอนลงใกล้ๆ เพื่อให้คนช่วยถอนเสี้ยน ช่างไม้พากันเข้าไปดูเห็นเสี้ยนตำเท้าช้างอยู่จึงค่อยๆ กรีดรอบเสี้ยนด้วยปลายมีดพอให้เป็นร่องแล้วดึงเสี้ยนออก บีบคัดหนองให้หมด ชำระด้วยน้ำอุ่นแล้วหายามาตำพอกให้ ไม่กี่วันแผลก็หาย นางช้างรู้คุณของเหล่าช่างไม้จึงอยู่ด้วยที่หมู่บ้านแล้วช่วยกิจการชักลากไม้ให้เบาแรงคน และยังสามารถช่วยงานเบา เช่น หยิบเครื่องมือและถือสายบรรทัดให้ตีเส้นได้ด้วย ช่างไม้ให้อาหารแก่นางช้างเป็นข้าวคนละก้อนทุกเวลา อยู่ต่อมาไม่นานช่างไม้และนางช้างชราลงไม่ค่อยมีกำลัง นางช้างจึงไปพาลูกมาช่วยงาน ลูกช้างเชือกนี้เป็นเศวตกุญชร (ช้างเผือก) อาชาไนยเพศผู้ แล้วนางช้างก็เข้าป่าไป
ลูกช้างเศวตกุญชรอาชาไนยช่วยช่างไม้ทำงานได้ทุกอย่าง มีมารยาทดีไม่ดุร้าย ชอบเล่นกับพวกเด็กๆ เมื่อเลิกงานก็ลงอาบน้ำในแม่น้ำ ธรรมดาของสัตว์อาชาไนย เช่น ช้าง ม้า เป็นต้น จะไม่ยอมถ่ายมูลลงในน้ำเป็นอันขาด เศวตกุญชรอาชาไนยจึงไปถ่ายมูลในป่าไกลออกไปจากฝั่งน้ำ วันหนึ่งฝนตกมากน้ำป่าไหลนอง พัดพามูลช้างแห้งลอยตามกระแสน้ำไปติดอยู่ที่ซุ้มพุ่มไม้ที่ท่าเมืองพาราณสี พวกคนเลี้ยงช้างหลวงนำช้าง 500 ลงไปอาบน้ำ ช้างได้กลิ่นมูลของเศวตกุญชรอาชาไนยก็ตื่นกลัว นายหัตถาจารย์ตรวจสอบดูพบมูลช้างแห้งจึงนำมาใส่ถาดขยำกับน้ำแล้วนำไปทาตัวช้างทุกๆ เชือก ช้างเหล่านั้นก็มีกลิ่นหอมประหลาดและยอมลงอาบน้ำ นายหัตถาจารย์ทูลพระเจ้าพรหมทัตและแนะนำให้ทรงค้นหาและนำเศวตกุญชรอาชาไนยมาเลี้ยงเป็นศรีพระนคร
พระเจ้าพรหมทัตดีพระทัยยกขบวนเรือทวนกระแสน้ำไปถึงหมู่บ้านช่างไม้และขอเศวตกุญชร ช่างไม้ไม่อาจขัดได้ก็ต้องยอมถวาย แต่เศวตกุญชรไม่ยอมตามเสด็จ นายหัตถาจารย์ทูลว่าพญาเศวตกุญชรต้องการทรัพย์เป็นค่าเลี้ยงให้พวกช่างไม้ก่อน พระราชาจึงประทานเงินรวม 600,000 กหาปณะแต่พญาเศวตกุญชรก็ยังไม่ยอมไป พระราชาประทานผ้านุ่งผ้าห่มให้เหล่าช่างไม้และภรรยาจนครบทุกคน และสุดท้ายประทานทรัพย์เป็นเบี้ยเลี้ยงแก่เด็กๆ ชายหญิงที่เป็นเพื่อนเล่นของพญาเศวตกุญชรจนทั่วแล้ว พญาเศวตกุญชรจึงยอมตามเสด็จออกจากหมู่บ้านพลางเหลียวดูพวกช่างไม้ทั้งหลายจนลับตา
พระเจ้าพรหมทัตให้ตกแต่งพระนครและโรงช้างอย่างวิจิตร มีการสมโภชเพื่อรับพญาเศวตกุญชร ทรงตั้งให้เป็นราชพาหนะและมีตำแหน่งเป็นพระสหายร่วมสุขทุกข์ของพระองค์ ตั้งแต่นั้นมาพระเดชานุภาพก็แพร่ไปทั่วชมพูทวีป ต่อมาพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต เมื่อใกล้จะประสูติ พระเจ้าพรหมทัตก็สิ้นพระชนม์ อำมาตย์ทั้งหลายไม่ยอมบอกข่าวแก่พญาเศวตกุญชรเพราะเกรงว่าจะเศร้าโศกจนหัวใจแตกสลาย
พระเจ้าโกศล*ทรงทราบว่าพระเจ้าพรหมทัตสิ้นพระชนม์แล้วก็ยกทัพมาล้อมเมืองไว้ ชาวเมืองปิดประตู แล้วส่งสารแจ้งแก่ข้าศึกว่าพระมเหสีทรงครรภ์ใกล้ประสูติ โหรทำนายว่าจะประสูติพระโอรสภายใน 7 วัน ขอให้พระเจ้าโกศลรอให้พระโอรสประสูติก่อน พระเจ้าโกศลก็ยอมตามนั้น ถึงวันที่ 7 พระมเหสีประสูติพระโอรสชื่อว่าอลีนจิตตกุมาร ชาวเมืองออกสู้ศึกแต่เนื่องจากไม่มีจอมทัพจึงพ่ายแพ้
อำมาตย์ทูลแนะพระมเหสีให้บอกข่าวสิ้นพระชนม์แก่พญาเศวตกุญชร รวมทั้งข่าวพระโอรสประสูติ และข่าวข้าศึก พระมเหสีอุ้มอลีนจิตตกุมารไปที่โรงช้าง วางเบาะพระกุมารลงแทบเท้าพญาช้างแล้วบอกข่าว พญาเศวตกุญชรยื่นงวงไปอุ้มพระโอรสมาวางบนกระพองแล้วร้องไห้อาลัยรักพระสหาย เมื่อส่งพระโอรสคืนพระมเหสีแล้ว พญาเศวตกุญชรก็วิ่งแล่นออกไปที่สนามรบพลางร้องโกญจนาททำให้กองทัพข้าศึกแตกไม่เป็นขบวน พญาเศวตกุญชรจับพระเจ้าโกศลได้ก็นำเข้ามาในพระนครให้หมอบลงแทบพระบาทพระกุมารโพธิสัตว์ ห้ามปรามฝูงชนที่จะทำร้ายพระราชา แล้วสั่งสอนพระเจ้าโกศลไม่ให้ประมาทพระกุมาร ให้ปฏิญาณยอมเป็นเมืองขึ้นแล้วปล่อยไป
เมื่ออลีนจิตตกุมารมีพระชันษา 7 ปีก็ได้เป็นกษัตริย์ทรงนามว่าพระเจ้าอลีนจิตตราช ราชสมบัติทั้งชมพูทวีปเป็นของพระองค์ทั้งสิ้น ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ไปเกิดในสวรรค์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory