TLD-003-5291
อำมาตย์โพธิสัตว์ 7 (ชื่อตัวละคร)
มหาสารชาดก นิบาตชาดก
อำมาตย์โพธิสัตว์เป็นตัวละครในเรื่องมหาสารชาดก เอกนิบาต ในนิบาตชาดก
ในสมัยพระเจ้าพรหมทัต*ครองเมืองพาราณสี* พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นบุตรในตระกูลอำมาตย์ เมื่อเจริญวัยได้เรียนสำเร็จศิลปศาสตร์ทั้งปวงแล้วก็ได้เป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัต
วันหนึ่งพระราชาเสด็จประพาสอุทยานพร้อมด้วยราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เมื่อไปถึงสระโบกขรณีโปรดให้พระราชเทวีและนางสนมกำนัลลงเล่นน้ำในสระพร้อมกับพระองค์ พระราชเทวีและนางในทั้งหลายพากันถอดเครื่องประดับวางไว้บนผ้าสไบแล้วยกขึ้นวางซ้อนบนกระเช้าดอกไม้ ให้ทาสีดูแลแล้วพากันไปเล่นน้ำ นางวานรตัวหนึ่งนั่งอยู่บนค่าคบไม้ เห็นเครื่องประดับก็อยากได้มาแต่งตัว รอจนนางทาสีนั่งหลับก็รีบลงมาจากต้นไม้ คว้าสร้อยเครือมุกดามาสวมคอแล้วขึ้นต้นไม้ไป ต่อมาเกรงว่าเพื่อนวานรจะเห็นจึงนำสร้อยนั้นไปซ่อนในโพรงไม้ นางทาสีตื่นขึ้นไม่เห็นสร้อยเครือมุกดาก็ตกใจ ร้องเอะอะขึ้นว่ามีผู้ร้ายมาลักสร้อยของพระราชเทวีไป พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้จับผู้ร้าย เจ้าหน้าที่พากันค้นหาในอุทยานมีเสียงดังอื้ออึงเต็มไปหมด ขณะนั้นมีชาวบ้านนอกคนหนึ่งตกปลาอยู่ ได้ยินเสียงอื้ออึงก็ตกใจ ทิ้งคันเบ็ดแล้ววิ่งหนีไป พวกราชบุรุษเข้าใจว่าเป็นโจรจึงจับตัวมาโบยตีขู่ถาม ชาวบ้านนอกผู้นั้นเกรงว่าจะถูกเฆี่ยนจนตายจึงยอมรับเป็นสัตย์ว่าตนลักเครื่องประดับไปจริง ราชบุรุษจึงพาไปเฝ้าพระราชา เมื่อพระราชาถามว่าลักเครื่องประดับไปจริงหรือ ชายผู้นั้นตอบว่าลักไปจริง ครั้นถามว่าเอาไปไว้ที่ไหน ชายผู้นั้นก็ตอบว่าเศรษฐีใช้ให้ตนมาลักไปและตนมอบให้เศรษฐีไปแล้ว ราชบุรุษไปจับเศรษฐี เศรษฐีก็สารภาพว่าได้รับเครื่องประดับจากชายคนนั้นจริง แต่ว่าตนได้ให้แก่ปุโรหิตไปแล้ว พราหมณ์ปุโรหิตก็รับผิดเช่นเดียวกันและบอกว่าให้แก่คนขับร้อง คนขับร้องก็บอกว่าตนได้ให้นางวรรณทาสีไป เมื่อรับสั่งเรียกนางวรรณทาสีมาถาม นางทูลปฏิเสธว่านางมิได้รับสิ่งใดจากคนขับร้องเลย พระเจ้าพรหมทัตทรงไต่สวนคนทั้งห้าอยู่จนถึงเวลาย่ำค่ำก็ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นผู้ร้าย จึงให้อำมาตย์ดูแลไว้ก่อน วันรุ่งขึ้นจะชำระความต่อ
อำมาตย์โพธิสัตว์อยู่ ณ ที่นั้นด้วย เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา จึงใคร่ครวญว่าเครื่องประดับของหลวงนี้หายไปในหมู่คนที่รับใช้อยู่ภายในวัง แต่คนทั้งห้าที่ต้องคดีเป็นคนที่อยู่ภายนอกวัง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็กวดขันกันแข็งแรง คนภายนอกไม่น่าจะเข้าไปลักของได้ ส่วนคนที่อยู่ภายในวังก็ไม่สามารถจะซ่อนของเอาออกไปข้างนอกได้ คนเหล่านั้นให้การรับเป็นสัตย์เพราะเกรงอาญา อนึ่งวานรในอุทยานมีมาก น่าสงสัยว่าเครื่องประดับพระราชเทวีอาจจะอยู่ในมือของวานรตัวใดตัวหนึ่ง คิดแล้วจึงไปเฝ้าพระราชาทูลว่าจะขอรับพิพากษาคดีคนทั้งห้าเอง พระราชาทรงอนุญาต อำมาตย์โพธิสัตว์จึงเรียกทาสทั้งหลายของตนมากำชับว่า ให้ดูแลคนทั้งห้านี้อยู่ในที่เดียวกัน จัดการให้รอบคอบและคอยฟังเสียงต่างๆ ด้วยว่าคนทั้งห้าพูดกันว่าอย่างไรบ้าง ให้จดจำถ้อยคำเหล่านั้นมาบอกตน
คนทั้งห้านั้นเมื่อมาอยู่พร้อมหน้ากัน เศรษฐีก็ถามชาวบ้านนอกว่าได้เคยพบตนที่ใดและเอาเครื่องประดับมีค่ามาให้ตนได้อย่างไร ชาวบ้านนอกตอบว่าตนไม่รู้ว่าเครื่องประดับที่หายนั้นเป็นอะไร ที่ซัดทอดเศรษฐีเพราะจะอาศัยให้พ้นผิด ปุโรหิตาจารย์ก็ถามเศรษฐีว่าได้ให้เครื่องประดับแก่ตนไว้เมื่อใด เศรษฐีก็ตอบว่าที่พูดเช่นนั้นเพราะเศรษฐีและตนต่างก็เป็นคนใหญ่โต ถ้ามาต้องโทษด้วยกันจะได้ช่วยกันแก้ไขให้พ้นพระอาญา คนขับร้องก็ถามปุโรหิตว่าได้นำเครื่องประดับมาให้ตนตั้งแต่เมื่อใด ปุโรหิตตอบว่าที่พูดเช่นนั้นคิดว่าจะต้องถูกจองจำ ถ้ามีคนมาขับร้องให้ฟังก็จะได้คลายทุกข์ แต่ละคนก็ขอโทษกัน ส่วนนางวรรณทาสีก็พูดกับคนขับร้องว่า ตนและคนขับร้องต่างไม่เคยไปมาหาสู่กัน และนำเครื่องประดับอะไรมาให้ตน คนขับร้องก็ขอว่าอย่าได้โกรธตนเลย ตนคิดเพียงว่าถ้าได้อยู่ด้วยกันก็จะคลายทุกข์ ทาสของพระโพธิสัตว์ฟังแล้วก็นำความทั้งหมดไปบอกอำมาตย์โพธิสัตว์ อำมาตย์โพธิสัตว์จึงคิดอุบายให้นางวานรทิ้งเครื่องประดับลงมา โดยสั่งให้ทำเครื่องประดับจากยางไม้จำนวนมาก ให้ทาสไปจับนางวานรหลายตัวในอุทยานมาให้ใส่เครื่องประดับนั้นทั้งที่มือ ที่เท้า และคอ แล้วปล่อยไป และให้ทาสไปคอยดูว่าเครื่องประดับของพระราชเทวีอยู่ที่วานรตัวใด ให้ทำให้ตกใจจนทิ้งเครื่องประดับลงมา
นางวานรทั้งหลายได้เครื่องประดับที่ทำด้วยยางไม้แต่งตัวก็ดีใจ กระโดดโลดเต้นไปอวดนางวานรที่ขโมยเครื่องประดับ นางวานรขโมยทนความอวดของนางวานรเหล่านั้นไม่ได้ จึงบอกว่าเครื่องประดับยางไม้จะดีอย่างไร เครื่องประดับของตนดีกว่านี้มาก ว่าแล้วก็มุดเข้าไปในโพรงเอาเครื่องประดับนั้นแต่งตัวออกมาบ้าง พวกทาสทั้งหลายเห็นดังนั้นก็พากันตบมือร้องตวาดจนนางวานรทิ้งเครื่องประดับลงมา แล้วก็นำไปให้อำมาตย์โพธิสัตว์
อำมาตย์โพธิสัตว์นำเครื่องประดับไปถวายพระราชาแล้วทูลว่าคนทั้งห้านั้นไม่ใช่ผู้ร้าย ทรงถามว่าเหตุใดจึงรู้ว่าเครื่องประดับอยู่ในมือวานร แล้วทำอย่างไรจึงได้คืนมา อำมาตย์โพธิสัตว์ก็ทูลตามที่ตนได้ทำมาทั้งหมด พระเจ้าพาราณสีพอพระทัยในปรีชาญาณของอำมาตย์โพธิสัตว์จึงตรัสสรรเสริญแล้วบูชาด้วยรัตนะ 7 ประการ ทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญกุศลทำทาน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory