TLD-003-0872
จัณฑาลโพธิสัตว์ (ชื่อตัวละคร)
ฉวกชาดก นิบาตชาดก
จัณฑาลโพธิสัตว์เป็นตัวละครในเรื่องฉวกชาดก จตุกกนิบาต ในนิบาตชาดก
ครั้งพระเจ้าพรหมทัต*ครองราชย์ ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติอยู่ในตระกูลจัณฑาล
ครั้นเติบใหญ่สามารถเก็บหอมรอมริบทรัพย์สินจนตั้งตัวได้ วันหนึ่งภรรยาของจัณฑาลโพธิสัตว์แพ้ท้องบอกสามีว่าอยากกินมะม่วง สามีบอกว่าฤดูนี้ไม่มีมะม่วง แต่จะหาผลไม้อย่างอื่นที่มีรสเปรี้ยวมาให้ ภรรยาไม่พอใจกล่าวว่าถ้าไม่ได้กินมะม่วงก็จะต้องตาย จัณฑาลโพธิสัตว์จึงคิดหาหนทางที่จะได้มะม่วงมา ในอุทยานของพระเจ้าพรหมทัตมะม่วงจะมีผลทุกฤดู จัณฑาลโพธิสัตว์คิดว่าตนจะไปขโมยมะม่วงสุก ตกกลางคืนก็ลอบเข้าไปในอุทยาน ปีนขึ้นไปบนต้นมะม่วงเหนี่ยวกิ่งดูผลมะม่วงกิ่งนั้นกิ่งนี้จนรุ่งสาง คิดว่าถ้าลงจากต้นไม้ตอนนี้คนเฝ้าอุทยานมาเห็นเข้าก็จะจับตนว่าเป็นขโมย ค่อยแอบลงไปเวลากลางคืนจะดีกว่า คิดดังนั้นแล้วก็ขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนค่าคบ
ครั้งนั้นพระเจ้าพรหมทัตจะทรงเรียนมนต์กับปุโรหิตาจารย์จึงเสด็จไปอุทยาน ประทับนั่งเรียนมนต์บนอาสนะที่สูงกว่าปุโรหิตาจารย์ ฝ่ายปุโรหิตาจารย์ก็นั่งสอนมนต์บนอาสนะที่ต่ำกว่าพระเจ้าพรหมทัต จัณฑาลโพธิสัตว์เห็นดังนั้นก็ลงจากต้นมะม่วงมาอยู่ระหว่างพระเจ้าพรหมทัตและปุโรหิตาจารย์แล้วทูลว่าตนเป็นคนฉิบหาย พระเจ้าพรหมทัตทรงเป็นคนหลง ส่วนปุโรหิตาจารย์เป็นคนตาย พระเจ้าพรหมทัตสดับแล้วตรัสถามว่าเหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น จัณฑาลโพธิสัตว์จึงทูลความหมายว่า ตนเป็นโจรลักมะม่วง พระเจ้าพรหมทัตซึ่งเป็นศิษย์ประทับนั่งสูงกว่าอาจารย์ ส่วนอาจารย์นั่งต่ำกว่าศิษย์ ทั้งสามจึงเป็นผู้ไม่เคารพต่อธรรม ปุโรหิตาจารย์กล่าวว่าตนได้อาหารที่พระราชาประทานทุกวัน ดังนั้นตนจึงมิได้เคารพธรรมที่พวกฤๅษีถือเคารพสืบต่อกันมา
จัณฑาลโพธิสัตว์บอกว่าปุโรหิตาจารย์ควรออกจากราชสำนักไปอยู่ที่อื่น โลกนี้กว้างขวางนัก ยังมีผู้อื่นที่จะพึ่งพาได้อีก อย่าให้อธรรมที่ปุโรหิตาจารย์ประพฤติอยู่ทำลายชีวิตให้ตกต่ำ พระเจ้าพรหมทัตได้สดับธรรมกถาของจัณฑาลโพธิสัตว์ก็ทรงเลื่อมใส ตรัสถามถึงชาติตระกูลของจัณฑาลโพธิสัตว์ เมื่อรู้ว่าเป็นคนในตระกูลจัณฑาลก็ตรัสว่า ถ้าจัณฑาลโพธิสัตว์เกิดในตระกูลสูง จะทรงมอบราชสมบัติให้ แต่เมื่อมีชาติกำเนิดเช่นนี้พระองค์ก็จะเป็นพระราชาในเวลากลางวัน ส่วนจัณฑาลโพธิสัตว์นั้นให้เป็นพระราชาในเวลากลางคืน แล้วพระเจ้าพรหมทัตก็ตั้งจัณฑาลโพธิสัตว์เป็นนคราภิบาลเจ้าหน้าที่รักษาพระนคร
ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าพรหมทัตก็ทรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์นคราภิบาล และทรงแสดงความเคารพต่อปุโรหิตาจารย์โดยประทับนั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่าเพื่อเรียนมนตร์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory