กงจักรแก้ว หรือจักรรัตนะ*ในเรื่องไตรภูมิกถา เป็นจักรวิเศษคู่บุญพญามหาจักรพรรดิราช*
ตามปกติกงจักรแก้วจมอยู่ในท้องมหาสมุทรลึก 8,400 โยชน์ กงจักรแก้วประดับด้วยแก้วสัตตพิธรัตนะ* สว่างสุกใสราวกับดวงอาทิตย์ มีกำ 1,000 ซี่ หัวกำซึ่งฝังเข้าไปในดุมทำด้วยเงินและทอง ปากดุมหุ้มด้วยแผ่นเงินสวยงามราวกับดวงจันทร์วันเพ็ญ รอบๆ หัวกำประดับด้วยแก้ว 7 ประการดูสดใสเลื่อมพรายราวกับสายฟ้าแลบ เห็นเป็นแสงไขว้กันไปมามีชื่อว่านาภีสรรพการบริบูรณ์* (นาภีแปลว่าดุม) มีรัศมีรุ่งเรืองฉวัดเฉวียนไปมา ส่วนที่เป็นกงเป็นแก้วประพาฬ มีรัศมีราวกับดวงอาทิตย์แรกขึ้น เหนือกงจักรแก้วมีฉัตรแก้วซึ่งประดับด้วยราชสีห์ทอง 2 ตัว ราชสีห์ทั้งสองนั้นคาบสร้อยมุกดา 2 เส้นใหญ่เท่าลำตาล เมื่อจักรแก้วลอยนิ่งอยู่สร้อยมุกดานั้นห้อยลงมาแพรวพรายดุจสายน้ำที่ชื่ออากาศคงคา*ล้อมรอบกงจักรแก้ว กงจักรแก้วสามารถแสดงอานุภาพได้เอง
ในกัลป์ใดไม่มีพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าก็จะมีพญามหาจักรพรรดิราชเกิดขึ้น เมื่อมีผู้มีบุญยิ่งใหญ่มาเกิดเป็นจักรพรรดิ กงจักรแก้วจะลอยขึ้นมา น้ำในมหาสมุทรก็แยกออกเปิดทางให้ กงจักรแก้วลอยสูงขึ้นแลดูงดงามราวดวงจันทร์เพ็ญ เวลานั้นเป็นวันเพ็ญ ชาวเมืองกำลังเล่นสนุกสำราญกันอยู่ เมื่อกงจักรแก้วพุ่งขึ้นมากลางอากาศจึงดูราวกับดวงจันทร์ขึ้น 2 ดวง เมื่อลอยมาใกล้พื้นดินในระยะ 12 โยชน์ ชาวเมืองจึงได้ยินเสียงอันไพเราะจากกงจักรแก้วและเกิดความยินดีกันทุกคน เสียงนั้นไพเราะยิ่งกว่าเสียงดนตรีทั้งหลาย เมื่อกงจักรแก้วเข้ามาใกล้เมืองราว 1 โยชน์ เสียงกงจักรแก้วจะดังยิ่งขึ้นราวกับให้รู้ทั่วกันว่าพญาผู้มีบุญองค์นั้นจะได้เป็นพญามหาจักรพรรดิราช
พญามหาจักรพรรดิราชทรงคำนึงถึงกงจักรแก้ว กงจักรแก้วก็มาถึงเมืองแล้วร่อนลงหน้าประตูเมือง กระทำประทักษิณรอบเมือง 7 รอบ เข้าสู่ราชมนเทียรประทักษิณอีก 7 รอบ แล้วเข้าไปนบนอบอยู่ทางทิศเหนือ ชาวเมืองได้นำข้าวตอกดอกไม้ของหอมต่างๆ มาบูชากงจักรแก้วนั้น รัศมีของกงจักรแก้วสว่างรุ่งเรืองแผ่ไปทั่วทั้งราชมนเทียร พญามหาจักรพรรดิราชเสด็จออกจากปราสาทมาชมกงจักรแก้วและจัดพิธีบูชาสักการะ แล้วยกกองทัพอันยิ่งใหญ่งดงามไปจนสุดสิ้นแผ่นดิน แล้วเสด็จขึ้นไปบนอากาศ เสนาบดีประกาศว่าบัดนี้พญามหาจักรพรรดิราชปราบทวีปทั้ง 4 ได้แล้ว ผู้ใดใคร่ชมบุญพระองค์ก็ให้รีบมา คนทั้งหลายก็พากันแต่งกายงดงาม ถือข้าวตอกดอกไม้ไปบูชากงจักรแก้ว ผู้ใดต้องการตามเสด็จก็สามารถเหาะขึ้นไปในอากาศได้ จึงมีขบวนผู้ตามเสด็จมากมาย โดยมีกงจักรแก้วนำไปข้างหน้า ตามด้วยพญามหาจักรพรรดิราช
ด้วยเหตุที่พญามหาจักรพรรดิราชเสด็จไปปราบทวีปทั้ง 4 ได้ กงจักรแก้วจึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าอรินทมะ*