กัณหะเป็นตัวละครในเรื่องกัณหชาดก ทสกนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์
ในแผ่นดินพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี พราหมณ์ผู้หนึ่งมีสมบัติถึง 80 โกฏิ แต่ไม่มีบุตร พราหมณ์ปรารถนาที่จะมีบุตรจึงสมาทานศีล พระโพธิสัตว์มาเสวยพระชาติในครรภ์ของภรรยาพราหมณ์ เมื่อคลอดแล้วให้ชื่อกุมารว่ากัณหะเพราะมีผิวดำ เมื่ออายุได้ 16 ปีบิดาส่งกัณหะไปศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ที่เมืองตักสิลา เมื่อศึกษาสำเร็จแล้วก็เดินทางกลับบ้าน และได้แต่งงานกับหญิงที่บิดาจัดหาให้
ต่อมาบิดามารดาของกัณหะสิ้นชีวิต กัณหะได้ครอบครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด อยู่มาวันหนึ่งกัณหะพิจารณาเห็นว่าคนเราเมื่อตายไปก็ไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติไปสู่ปรโลกได้ ทรัพย์สมบัติเป็นของหาสาระมิได้ ทั้งยังอาจประสบภัยทั้ง 5 คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย และอัปปิยทายาทภัย แต่การให้ทานเป็นสาระ ร่างกายก็ไม่เป็นสาระเพราะอาจต้องเผชิญกับโรคภัยนานาประการ แต่การทำความดีเป็นสาระ และชีวิตก็ไม่ได้เป็นสาระเพราะเป็นของไม่เที่ยงแท้ แต่การทำความเพียรเจริญวิปัสสนาเป็นสาระ เมื่อคิดได้ดังนี้กัณหะจึงบริจาคทรัพย์ทั้งหมดแก่ผู้ที่ต้องการ แล้วออกบวชบำเพ็ญตบะที่ป่าหิมพานต์
เมื่อบวชแล้วกัณหดาบสก็มีตบะแรงกล้า รักสันโดษ มักน้อย บริโภคอาหารคือผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ตามแต่จะมี และด้วยตบะอันแรงกล้านี้เองทำให้ร้อนถึงท้าวสักกเทวราช* (พระอินทร์) ต้องเสด็จลงมา เมื่อทอดพระเนตรเห็นกัณหดาบสกำลังนั่งเก็บผลไม้เท่าที่มือจะเอื้อมถึง ก็ทรงดำริว่าพระดาบสมีตบะแรงกล้าสมควรจะได้รับประทานพร จึงทดสอบความโกรธของกัณหดาบสด้วยการกล่าวค่อนขอดความดำของผิวพรรณ ของอาหาร และของที่อยู่อาศัยของดาบส นอกจากกัณหดาบสจะไม่โกรธตอบแล้ว ยังแสดงธรรมแก่ท้าวสักกเทวราชด้วยว่า คนที่ประกอบด้วยตปธรรมไม่เรียกว่าเป็นคนดำ แต่คนที่มีบาปกรรมคือคนดำ แล้วก็จำแนกประเภทของบาปกรรมที่ทำให้สัตว์โลกเป็นคนดำถวายท้าวสักกเทวราช
หลังจากได้ฟังธรรมแล้วท้าวสักกเทวราชทรงเลื่อมใสจะประทานพรให้ กัณหดาบสจึงขอพร 4 ประการคือ อย่าได้มีความโกรธต่อผู้อื่น อย่าได้มีโทสะต่อผู้อื่น อย่าได้โลภในทรัพย์ของผู้อื่น และอย่าได้เกิดความเสน่หาในผู้อื่น ท้าวสักกเทวราชได้สดับก็ดำริว่าพระดาบสขอแต่พรที่ปราศจากโทษจึงทรงสงสัย แล้วตรัสถามกัณหดาบสถึงโทษของความโกรธ โทสะ โลภะ และเสน่หา กัณหดาบสจึงกล่าวถึงโทษของกิเลสทั้ง 4 ถวาย ท้าวสักเทวราชก็ทรงเลื่อมใสยิ่งขึ้น จะประทานพรเพิ่มให้แก่พระดาบสเป็นประการที่ 5 กัณหดาบสจึงขอพรว่าอย่าให้อาพาธเพราะจะเป็นอันตรายแก่ความเพียร ท้าวสักเทวราชก็ยิ่งเลื่อมใส เนื่องจากพรที่พระดาบสขอนั้นมุ่งที่การบำเพ็ญตบะเป็นหลัก จึงประทานพรให้ กัณหดาบสขอพรประการที่ 6 เป็นประการสุดท้ายคือขออย่าให้ใจหรือกายของตนเป็นเหตุให้ผู้อื่นทุกข์ร้อน
ครั้นท้าวสักกเทวราชประทานพรแก่พระดาบสแล้ว ก็ทรงบันดาลให้ต้นไม้คือต้นอินทวารุณิพฤกษ์มีผลหวานอร่อยไม่ขาดสาย และทรงขอให้พระดาบสมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโรคภัย แล้วเสด็จกลับวิมาน ฝ่ายกัณหดาบสก็ไม่เสื่อมจากฌาน เมื่อสิ้นชีวิตได้ไปเกิดในพรหมโลก