TLD-003-1203
ชัมพุกะ (ชื่อตัวละคร)
เตสกุณชาดก นิบาตชาดก
ชัมพุกะเป็นตัวละครในเรื่องเตสกุณชาดก จัตตาฬีสนิบาต ในนิบาตชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นนกแก้ว
พระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีไม่มีโอรสธิดา วันหนึ่งเสด็จประพาสอุทยานเห็นรังนกอยู่บนต้นสาละก็นึกรัก สั่งให้ราชบุรุษขึ้นไปดู ครั้นรู้ว่ามีไข่นก 3 ฟอง ก็โปรดให้เอาผอบรองด้วยสำลีใส่ไข่นกลงมา แล้วให้อำมาตย์ 3 คนนำไปฟักที่บ้าน ไข่นกทั้ง 3 ฟอง เมื่อฟักแล้ว ฟองแรกเป็นนกฮูกเพศผู้ได้ชื่อว่าเวสสันตระ* ฟองที่ 2 เป็นนกสาลิกาเพศเมียชื่อว่ากุณฑลินี* ฟองที่ 3 เป็นนกแก้วเพศผู้ชื่อชัมพุกะ พระราชาดีพระทัย ประทานทรัพย์สินแก่อำมาตย์ทั้งสามมากมาย และตรัสเรียกนกทั้งสามว่าโอรสธิดา อำมาตย์ทั้งหลายพากันหัวเราะพระเจ้าพรหมทัตที่ทรงเลี้ยงนกทั้งสามเป็นอย่างดี
พระราชาทรงทราบก็มีพระดำริที่จะให้อำมาตย์เหล่านั้นได้เห็นสติปัญญาของนกทั้งสาม พระราชาสั่งให้ทำมณฑปใหญ่ที่หน้าพระลาน ให้ราชบุรุษเที่ยวตีกลองเรียกประชุมมหาชน แล้วให้อำมาตย์ผู้ดูแลนกเวสสันตระนำนกมา พระเจ้าพรหมทัตให้นกจับบนพระเพลา ทรงเล่นด้วยแล้วจึงให้จับบนตั่งทอง แล้วถามว่าพระราชาควรทำกิจอะไรดี นกเวสสันตระตอบว่าควรเว้นการพูดเท็จ เว้นความโกรธ และความร่าเริงก่อน แล้วจึงให้ทำกิจทั้งหลายด้วยความไม่ประมาท เพราะคนพูดเท็จย่อมมีความวิบัติต้องตกนรก ส่วนที่ให้เว้นความโกรธนั้นคือควรมีความอดทน เมตตาปรานีต่อทุกคน อนึ่งพระราชาควรเว้นความสนุกสนานร่าเริง อย่าเชื่อถือผู้อื่น ควรทำกิจทั้งปวงโดยมีเหตุผลด้วยพระองค์เอง ขอให้พระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาท ประกอบกิจทั้งหลายด้วยความอุตสาหะและรอบคอบ มหาชนทั้งหลายเมื่อได้ฟังก็อัศจรรย์ใจและพากันสรรเสริญนกเวสสันตระ พระราชาตั้งให้นกเวสสันตระมีตำแหน่งเป็นมหาเสนาคุต รับราชการแต่นั้นมา
7 วันต่อมาพระเจ้าพรหมทัตสั่งให้นำนางนกสาลิกากุณฑลินีธิดามาที่มณฑปหน้าพระลานอีก และตรัสถามปัญหาว่าพระองค์ผู้ครองราชสมบัติควรทำกิจอะไรจึงจะประเสริฐ การที่พระราชาถามเช่นนี้เพราะคิดว่านางนกเป็นสตรีย่อมมีปัญญาน้อย นางนกกุณฑลินีทูลว่า แม้นางเป็นสตรีแต่จะขอแสดงราชธรรมแก่พระองค์ เมื่อแสดงจบนางนกก็สอนให้พระบิดาหมั่นบำเพ็ญกุศล ไม่เสพสุรา รักษาศีล 5 เพราะบุคคลผู้ไม่มีศีลจะถึงความวิบัติ พระเจ้าพรหมทัตทรงยินดีอย่างยิ่ง ทรงตั้งนางนกกุณฑลินีให้รับราชการในตำแหน่งภัณฑาคาริก (ผู้รักษาคลังเก็บสิ่งของ)
ต่อมาพระเจ้าพรหมทัตให้นำนกแก้วชัมพุกะโอรสมาเข้าเฝ้า และตรัสสั่งให้กล่าวถึงกำลังอันอุดมของสัตว์ทั้งหลาย นกชัมพุกะโพธิสัตว์กล่าวถึงกำลังของบุคคลซึ่งมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ กำลังคือแขน (กำลังกาย) กำลังคือโภคทรัพย์ (มีเงินทองช่วยอุปถัมภ์กาย) กำลังคืออมาตย์ (เป็นผู้กล้าในสงคราม) กำลังคือชาติสูง (มีความบริสุทธิ์) และกำลังคือปัญญา ทั้งหมดนี้ปัญญาถือเป็นกำลังที่ประเสริฐสุด เป็นยอดของกำลังทั้งหลาย บัณฑิตผู้มีกำลังปัญญาย่อมได้ความเจริญ บุคคลที่มีชาติสูงแม้ได้เป็นกษัตริย์ ถ้าไม่มีปัญญาก็อยู่ในราชสมบัติไม่ได้ บุคคลที่มีปัญญาแม้เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นก็ย่อมมีอุบายทำให้เกิดสุขได้ คือเป็นผู้ไม่มีภัย บุคคลใดไม่นั่งใกล้บัณฑิต ไม่ฟังคำสอนของบัณฑิต ไม่เชื่อฟังบัณฑิต ไม่ใคร่ครวญว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เป็นเหตุหรือมิใช่เหตุย่อมไม่ได้ปัญญา นกชัมพุกะสั่งสอนให้พระราชาทรงปฏิบัติต่อพระบิดามารดา เช่น ให้น้ำบ้วนปากและไม้สีฟัน จึงได้ชื่อว่าประพฤติธรรมต่อบิดามารดา ห้ามไม่ให้บุตรธิดาทำชั่ว ให้ประพฤติแต่ความดีงาม ให้เรียนวิทยาการ ให้ทรัพย์ตามควร จึงได้ชื่อว่าประพฤติธรรมต่อบุตร ไม่เบียดเบียนชาวบ้านด้วยอาชญาและส่วยสาอากรมากเกินไป จึงชื่อว่าประพฤติธรรมต่อชาวบ้าน เป็นต้น นกแก้วโพธิสัตว์แสดงธรรมด้วยพุทธลีลาราวกับเทวดาผู้วิเศษ บันดาลให้ฝนตกลงมาจากฟากฟ้า มหาชนพากันแซ่ซ้องสาธุการ พระเจ้าพรหมทัตทรงแต่งตั้งให้นกชัมพุกะเป็นเสนาบดี
จากนั้นมานกทั้งสามได้กล่าวสอนพระราชาอยู่เสมอ พระเจ้าพรหมทัตทรงบำเพ็ญกุศล บริจาคทาน เมื่อสิ้นพระชนม์ได้ไปเกิดในสวรรค์ อำมาตย์ทั้งหลายบอกแก่นกทั้งสามว่า พระราชาทรงมอบราชสมบัติให้นกชัมพุกะ นกชัมพุกะตอบว่าตนไม่ต้องการราชสมบัติ ขอให้เหล่าอำมาตย์ครอบครองราชสมบัติต่อไป และให้มหาชนตั้งอยู่ในศีล นกชัมพุกะโพธิสัตว์สั่งให้จารึกวินิจฉัยธรรมในแผ่นทองเพื่อเป็นหลักในการวินิจฉัยคดี แล้วนกชัมพุกะก็บินเข้าป่าไป วินิจฉัยธรรมนี้มีอายุต่อมาได้ 40,000 ปี
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory