TLD-003-1215
ช้างแก้ว (ชื่อตัวละคร)
ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ไตรภูมิกถา
ช้างแก้ว หรือหัตถีรัตนะ*เป็นช้างในเรื่องไตรภูมิกถา เป็นช้างคู่บุญบารมีของสมเด็จพญามหาจักรพรรดิราช*
เมื่อช้างแก้วจะมาอยู่กับพระองค์นั้นจะต้องมีการจัดสร้างและตกแต่งโรงช้างอย่างงดงามไว้ต้อนรับ “หลังคาแลเสานั้นเทียรย่อมเงินแลทอง กับด้วยแก้ว 7 ประการ แล้วจึงทากระแจะจวงจันทน์อันหอมไว้ในกลางโรงช้างนั้น... ท่านแสร้งแต่งล้วนแต่ด้วยแก้ว 7 ประการ แลมีรัศมีเขียวขาว แดงเหลือง ดูเรืองดูรุ่งดูเลื่อมใส... ยิ่งดูยิ่งเรืองดั่งวิมานเทพยดาในเมืองฟ้า”
เมื่อตกแต่งโรงช้างนั้นแล้ว สมเด็จพญามหาจักรพรรดิราชจึงทรงบริจาคทาน รักษาศีลครบ 7 วัน แล้วจึงทรงคำนึงถึงช้างแก้ว ด้วยบุญญาบารมีของพระองค์ ช้างในตระกูลฉัททันต์หรือช้างในตระกูลอุโปสถก็จะมาสู่พระองค์ ดังความว่า “ผิมาแต่ฉัททันต์กระกูลก็ดี ผิมาแต่อุโปสถกระกูลก็ดี เทียรย่อมตัวดียิ่งกว่าช้างทั้งหลายจึงจะมาแล” เมื่อช้างแก้วมาทางอากาศดูราวกับ “อรหันต์ผู้มีอำนาจ แลไปโดยอากาศเร็วนัก”
ช้างแก้วเป็นช้างที่งดงามมาก รูปร่างสูงใหญ่ งามดั่งภูเขาสีเงิน ขาวดั่งเดือนเพ็ญ ตีนแดงงามราวกับตะวันแรกขึ้น งวงแดงดั่งดอกบัวแดงและมีลักษณะอันดีของช้างครบทุกประการ ช้างแก้วเหาะมาถึงก็เข้าไปยืนอยู่เหนือแท่นทองในโรงทองที่พญามหาจักรพรรดิราชทรงแต่งไว้รอรับ เมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรและยื่นพระหัตถ์ไปลูบคลำช้างแก้ว ช้างแก้วก็ก้มหัวลงเอางาเท้าดินเพื่อถวายความเคารพ เมื่อประดับร่างกายช้างแก้วจนงดงามแล้วพญามหาจักรพรรดิราชก็ขึ้นทรงช้างนั้น พญามหาจักรพรรดิราชมีพระทัยใคร่จะไปทางอากาศช้างแก้วก็พาเหาะไปอย่างงดงามไปเวียนรอบเขาพระสุเมรุ*และเลียบกำแพงจักรวาลแล้วจึงเสด็จคืนสู่พระนครได้อย่างรวดเร็วทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory