TLD-003-1219
ช้างเผือกโพธิสัตว์ (ชื่อตัวละคร)
มาตุโปสกชาดก นิบาตชาดก
ช้างเผือกโพธิสัตว์เป็นตัวละครในเรื่องมาตุโปสกชาดก เอกทสกนิบาต ในนิบาตชาดก
ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นช้างเผือกอยู่ในป่าหิมพานต์ มีกายสีขาว รูปทรงงดงามสมบูรณ์ไปด้วยคชลักษณ์อันอุดม มีช้างประมาณ 80,000 เป็นบริวาร นางช้างมารดาของช้างเผือกโพธิสัตว์ตาบอดทั้งสองข้าง ไม่สามารถไปหาอาหารกินได้ ช้างเผือกโพธิสัตว์จึงให้บริวารนำผลไม้เลิศรสที่ตนหาได้เอาไปให้นางช้าง แต่บริวารช้างมิได้เอาไปให้ กลับนำมากินเอง
เมื่อช้างเผือกโพธิสัตว์รู้จึงละทิ้งบริวารพาช้างมารดาไปอยู่เชิงเขาจัณโฑรณะ ให้มารดาซ่อนตัวอยู่แต่ในถ้ำ ส่วนตนไปหาอาหารมาเลี้ยงดูตลอดมา วันหนึ่งมีพรานป่าชาวเมืองพาราณสีเข้าป่าแล้วหลงทาง เดินร้องไห้เสียงดังลั่น ช้างเผือกโพธิสัตว์ได้ยินก็เข้าไปช่วยโดยให้นายพรานนั่งบนหลังของตนนำออกจากป่ามาส่งปากทางเข้าเมือง แล้วกลับมาที่อยู่ของตน ฝ่ายพรานป่าซึ่งเป็นคนใจบาปนั้นขณะนั่งอยู่บนหลังช้างเผือกโพธิสัตว์ก็คิดว่าเมื่อเข้าเมืองแล้วจะไปทูลพระเจ้าพรหมทัตว่าในป่ามีช้างเผือก จึงทำเครื่องหมายตามรายทางไว้
ต่อมามงคลหัตถีของพระเจ้าพรหมทัตล้ม (ตาย) พระองค์จึงทรงให้ป่าวประกาศว่า ถ้าผู้ใดมาทูลให้ทรงทราบว่ามีช้างซึ่งสมควรจะเป็นราชพาหนะจะประทานรางวัลให้อย่างงาม พรานป่ารู้เข้าจึงไปเฝ้า ทูลว่าตนพบช้างเผือกอันเป็นมงคลอยู่ในป่า พระเจ้าพรหมทัตจึงมีรับสั่งให้พรานป่านำทางนายหัตถาจารย์พร้อมเหล่าบริวารให้ไปคล้องช้างนั้นมา เมื่อไปถึงจัณโฑรณบรรพตก็เห็นช้างเผือกโพธิสัตว์กำลังหาอาหารอยู่
ฝ่ายช้างเผือกโพธิสัตว์รู้ได้ทันทีว่าพราหมณ์ที่ตนเคยช่วยได้นำภัยมาให้ แม้จะรู้ว่าตนมีพละกำลังมหาศาล ซึ่งถ้าตนโกรธขึ้นมาก็อาจกำจัดช้างจำนวน 1,000 ให้แหลกลงได้ ทั้งจะยังทำให้พาหนะทั้งแว่นแคว้นพินาศได้ด้วย แต่ถ้าทำเช่นนั้นตนจะศีลขาด ดังนั้นจึงตั้งอธิษฐานจิตว่าจะไม่โกรธแม้จะมีผู้เอาหอกมาทิ่มแทงศีรษะ แล้วช้างเผือกโพธิสัตว์ก็ยืนก้มศีรษะนิ่งอยู่ ฝ่ายนายหัตถาจารย์เมื่อเห็นลักษณะอันประเสริฐของช้างเผือกโพธิสัตว์ก็นำตัวไปเมืองพาราณสี ส่วนนางช้างมารดาเห็นช้างเผือกโพธิสัตว์หายไปก็เศร้าโศกและเดาได้ว่าคงถูกพระราชานำตัวไปเสียแล้ว แต่ก็คิดว่าพระราชาคงเลี้ยงช้างอันมีลักษณะประเสริฐเป็นอย่างดี
เมื่อนายหัตถาจารย์มาถึงกลางทางก็ส่งข่าวไปทูลพระเจ้าพรหมทัตว่าตนจับช้างเผือกได้แล้ว พระเจ้าพรหมทัตโปรดให้ประดับตกแต่งพระนครและให้ปลูกโรงช้างอันวิจิตรอลังการไว้คอยต้อนรับ ในวันที่ 7 นายหัตถาจารย์ก็พาช้างเผือกโพธิสัตว์มาถึงเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัตเสด็จมายังโรงช้าง ทรงถืออาหารรสเลิศมาประทานแก่ช้างเผือกด้วยพระองค์เอง แต่ช้างเผือกโพธิสัตว์ไม่ยอมรับอาหารจากพระเจ้าพรหมทัตเพราะคิดถึงมารดา พระเจ้าพรหมทัตตรัสอ้อนวอนให้ช้างเผือกบริโภคอาหารและมารับราชการเป็นช้างทรงพระที่นั่ง ช้างเผือกโพธิสัตว์ทูลว่าตนเป็นผู้เลี้ยงดูมารดา เมื่อตนจากมามารดาซึ่งตาบอดอาจตายหรืออาจได้รับอันตรายเพราะปราศจากผู้นำทาง พระเจ้าพรหมทัตจึงโปรดให้ปล่อยช้างเผือกโพธิสัตว์กลับไปอยู่กับมารดา ฝ่ายช้างพระโพธิสัตว์เมื่อเป็นอิสระแล้วก็แสดงราชธรรม 10 ประการถวายพระเจ้าพรหมทัต แล้วถวายโอวาทว่าอย่าได้ทรงมีความประมาท มหาชนต่างก็พากันเอาเครื่องหอมดอกไม้มาสักการะช้างเผือกโพธิสัตว์
จากนั้นช้างเผือกโพธิสัตว์ก็ออกจากเมืองพาราณสี เมื่อไปถึงสระบัวก็เก็บเหง้าบัวและรากบัว แล้วสูดน้ำจนเต็มงวงกลับไปหามารดา เมื่อไปถึงก็พ่นน้ำรดร่างของนางช้างเพื่อให้มีพละกำลังเพราะมิได้กินอาหารมานานถึง 7 วัน ฝ่ายนางช้างคิดว่าฝนตกจึงบริภาษฝน ช้างเผือกโพธิสัตว์จึงเล่าเรื่องที่ตนถูกจับไปและขอให้มารดากินอาหารที่ตนนำมา
นางช้างสรรเสริญพระเจ้าพรหมทัตและขอให้ทรงพระชนมายุยืนนาน พระเจ้าพรหมทัตซึ่งเลื่อมใสคุณงามความดีของช้างเผือกโพธิสัตว์โปรดให้สร้างบ้าน ณ ที่ใกล้ถ้ำซึ่งเร้นลับไม่มีผู้ใดเห็น แล้วประทานอาหารแก่ช้างเผือกโพธิสัตว์และนางช้างเป็นนิจทุกวัน ต่อมาเมื่อนางช้างล้ม ช้างเผือกโพธิสัตว์ก็เดินทางไปที่กรัณฆกอาศรม เฝ้าปรนนิบัติฤๅษี 500 ตน ส่วนพระเจ้าพรหมทัตเมื่อช้างเผือกโพธิสัตว์จากไปก็โปรดให้นำหินมาทำเป็นรูปจำลองของช้างนั้นเพื่อสักการบูชา มหาชนในชมพูทวีปก็พากันมาฉลองหินรูปช้างทุกปีมิได้ขาด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory