รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
หลวงพิศณุเสนี (ทองอยู่)/ หลวงเพ็ดฉลู
เกิด
เสียชีวิต
วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2435
ประวัติ
หลวงพิศณุเสนี หรือเรียกกันทั่วไปว่า หลวงเพ็ดฉลู นามเดิมทองอยู่ เป็นบุตรพระยาพิพัฒโกษา (อ้น) หลวงพิศณุเสนีเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนวิเวกสงคราม ตำแหน่งปลัดกรมกลองชนะขวา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็นหลวงพิศณุเสนี เจ้ากรมกลองชนะซ้าย เป็นผู้ที่มีความสามารถหลายอย่าง ทั้งการขับเสภา แต่งเสภา และบอกปี่พาทย์ สันทัดในทางขับเสภาตอนขุนแผนรบเมืองเชียงใหม่ นับถือกันเป็นครูใหญ่ในกระบวนเสภามาจนถึงรัชกาลที่ 5
ในรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระราชมานู เจ้ากรมกลองชนะขวา เมื่อพ.ศ. 2434 มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งในงานโกนจุก เจ้าของงานมีพวกพ้องเป็นนายวงปี่พาทย์ แต่เป็นวงที่เพิ่งหัดขึ้นใหม่ พอทำเพลงประโคมพระสวดมนต์ฉันเช้าได้ นายวงปี่พาทย์เข้าใจว่าจะมีแต่สวดมนต์ฉันเช้าจึงรับเอาปี่พาทย์ไปช่วยงาน แต่เมื่อสวดมนต์จบแล้ว เห็นพระราชมานูมางาน จึงทราบว่าเจ้าของงานจะมีเสภา ก็ตกใจ ด้วยคนขับเป็นครูสำคัญ ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงแอบคลานเข้าไปกราบพระราชมานูบอกว่า “ใต้เท้าได้โปรดด้วยปี่พาทย์ผมพึ่งหัด” พระราชมานูหันมาถามว่า “ทำเพลงอะไรได้บ้าง” นายวงบอกว่า “ได้แต่จระเข้หางยาวเพลงเดียวเท่านั้นแหละขอรับ” พระราชมานูพยักหน้าแล้วก็นิ่งอยู่ เสภาค่ำวันนั้นขับๆ ไปแล้ว พระราชมานูก็หันลงส่งเพลงจระเข้หางยาวส่งแต่เพลงเดียวตลอดทั้งคืน ปล่อยปี่พาทย์รอดตัวมาได้
พระราชมานูถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2435 อายุได้ 75 ปี
ผลงาน / งานประพันธ์
เสภาเรื่องอาบูหะซัน ตอนที่ 1
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระ. ตำนาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไท, 2468. (ทรงพระนิพนธ์ใหม่สำหรับหนังสือบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งพิมพ์ครั้งที่ 2)
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ.110 เล่ม 8.
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ.111 เล่ม 9.
คำสำคัญ