รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
เกิด
วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2326
เสียชีวิต
ประวัติ
พระพุทธโฆษาจารย์ นามเดิม ฉิม เป็นชาวบ้านบางจาน เมืองเพชรบุรี เกิดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2326 บวชที่เมืองเพชรบุรี แล้วเข้ามาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ อยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระฉิมได้เป็นเปรียญเอก 9 ประโยค และเป็นพระราชาคณะที่พระรัตนมุนี อยู่วัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. 2369 ได้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพโมลี ต่อมา พ.ศ. 2375 ได้เป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ครองวัดโมลีโลกยาราม
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อพ.ศ. 2394
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมมาก ในปลายรัชกาลที่ 3 เมื่อยังเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ได้สอบไล่พระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชเป็นพระราชาคณะ วันหนึ่งพระธรรมภาณพิลาสครั้งยังเป็นมหาผ่อง วัดประยุรวงศาวาส เข้าแปลหนังสือ แปลศัพท์ “อาสเน” ว่า “เหนืออาสน” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด พระพุทธโฆษาจารย์ว่าไม่ถูก แปลว่า “ในอาสน” ถูกทักทั้ง 2 อย่าง จนไม่รู้ว่าจะแปลว่าอะไร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสงสารมหาผ่อง เกรงว่าจะตก จึงมีรับสั่งขึ้นว่า ที่จะให้นั่งในอาสนะนั้นจะนั่งอย่างไร จะฉีกอาสนะออกแล้วเข้าไปนั่งตรงที่อาสนะขาด หรือจะเอาอาสนะขึ้นคลุม พระพุทธโฆษาจารย์โกรธ กล่าววาจาหยาบช้า ว่าทุกวันนี้เพราะเห็นแก่พระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน จึงอุตส่าห์มาไล่หนังสือ ถ้าหาไม่ก็ไม่อยากเดินมาให้เจ็บฝ่าเท้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองมาก กริ้วในที่ประชุมสงฆ์ จนพระพุทธโฆษาจารย์หนีออกไปทางหน้าต่างพระอุโบสถ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงขัดเคืองพระพุทธโฆษาจารย์มิให้นิมนต์เข้ามาราชการอย่างใด มีรับสั่งมอบการไล่หนังสือถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสิทธิขาดแต่นั้นมา
ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 พระพุทธโฆษาจารย์มีความหวาดหวั่นพระราชอาญา เกรงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพยาบาท จึงตระเตรียมจะหลบเลี่ยงออกไปอยู่เมืองเพชรบุรี แต่ครั้นเมื่อเลื่อนยศพระราชาคณะผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า พระพุทธโฆษาจารย์นี้รู้หนังสือดี โปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ผลงาน / งานประพันธ์
โคลงภาพฤๅษีดัดตน
โคลงที่ 18 ดัดตนแก้ขัดขาขัดคอ
โคลงที่ 41 ดัดตนแก้เวียนศีรษะ
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไท, ร.ศ.131. (พิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายแลแจกในงานพระเมรุท้องสนาม มีนาคม ร.ศ.131 พ.ศ. 2455)
วิจิตรธรรมปริวัติ, หลวง. “ตำแหน่งพระราชาคณะ.” วชิรญาณวิเศษ ร.ศ. 108 เล่ม 5.
สมมตอมรพันธุ์, กรมพระ และกรมพระดำรงราชานุภาพ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร, 2466. (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า โปรดให้พิมพ์ครั้งแรก เมื่อปีกุญ พ.ศ. 2466)
คำสำคัญ