รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
นามแฝง
เกิด
วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2402
เสียชีวิต
วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471
ประวัติ
จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2402 มีพระเชษฐา 2 พระองค์คือ
1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาหนังสือไทยในสำนักครูผู้หญิงในพระตำหนักหลังนอก ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2413 โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ แล้วโปรดให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ตามโบราณราชประเพณี แล้วได้โดยเสด็จประพาสสิงคโปร์ พม่าและอินเดีย
เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงเล่าเรียนอักษรขอมและภาษาบาลีจากสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) พระชนม์ 14 ปี ทรงผนวชเป็นสามเณรที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อขณะทรงผนวชสามเณรนั้น พระองค์ทรงเล่าเรียนวิชาทางพุทธศาสตร์ในสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์
เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ทรงเล่าเรียนวิชาทหารในสำนักกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ส่วนภาษาอังกฤษทรงศึกษาในสำนักมิสเตอร์เอฟ. ยี. แปตเตอร์ซัน ครูหลวงโรงเรียนหลวงที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาทรงศึกษาหนังสือไทยเพิ่มเติมในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
เมื่อพ.ศ. 2422 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วเสด็จประทับ ณ พระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวังคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ทรงกลับเข้ารับราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก พ.ศ. 2424 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต่อมาพ.ศ. 2428 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช
ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และในรัชกาลที่ 7 ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อพ.ศ. 2468
งานราชการพิเศษ ในรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นแม่กองทำเขาไกรลาส ในพระราชพิธีโสกันต์กรมขุนสุพรรณภาควดี ทรงเป็นนายด้านปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในคราวฉลองพระนคร 100 ปี เป็นแม่กองสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นนายกจัดการแสดงพิพิธภัณฑ์สยาม เป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นผู้อำนวยการจัดการพระราชพิธีต่างๆ ได้แก่ การพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ การทำพระเมรุสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระเทพนารีรัตน การทำพระเมรุบรรพตพระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาส และทำเมรุเจ้าคุณจอมมารดาสำลี เป็นแม่กองจัดพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสภานายกจัดการดนตรีไปแสดงที่กรุงลอนดอน ที่กรุงปารีส เป็นแม่กองทำการก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ที่เกาะสีชัง ทรงนำพระกฐินไปพระราชทาน ณ วัดต่างๆ ได้แก่ วัดราชาธิวาส วัดเขมาภิรตาราม วัดเทวราชกุญชร วัดนรนารถสุนทริการาม วัดสามพระยา วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ โดยทรงใช้นามปากกาว่า อาทิตย์อุไทย, B.M.
สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคตที่ตำหนักวังบุรพาภิรมย์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2471 พระชนมายุได้ 69 พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ ทรงมีพระโอรส 9 องค์ ธิดา 7 องค์ รวม 16 องค์
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน
2. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงประกอบรูปที่ 26 แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ภาพสมเด็จพระนเรศวรปีนค่ายพระเจ้าหงสาวดี
โคลงประกอบรูปที่ 91 แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภาพพระราชพิธีลงสรงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
3. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม*
ห้องที่ 82 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่พระรามเตรียมออกรบจนถึงทศกัณฐ์เชิญมูลพลำและสหัสเดชะมารบ
4. ข่าวราชการลงพิมพ์ใน Court ข่าวราชการ ระหว่างพ.ศ. 2418-2419
5. พระราชสวามี ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์
6. ราชินิกูลรัชกาลที่ 3
7. ราชินิกูลรัชกาลที่ 5
8. โคลงสุภาษิตใหม่ (ต่อมาเรียกว่า โคลงสุภาษิตเจ้านาย)
โคลงความอาลัย จำนวน 1 บท
โคลงความริษยา จำนวน 1 บท
โคลงความพยาบาท จำนวน 2 บท
โคลงความอาย จำนวน 1 บท
โคลงความอาย จำนวน 1 บท
โคลงว่าด้วยความกลัว จำนวน 3 บท
โคลงความเกียจคร้าน จำนวน 2 บท
โคลงความเพียร 2 บท
โคลงความโลภ จำนวน 2 บท
9. นิทานยั่วให้ทหารมีความกล้า
10. ว่าด้วยคำทิพยโสตทิพยจักษุ
11. เรื่องอิริยาบถของมนุษย์
12. ถือเอาคำมั่นแก้คำจริงๆ
13. พลทหารบกเกิดขึ้นอย่างไร
14. ชีวิวัฒน์
15. ตำนานกรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้เรียบเรียง
บุหลง ศรีกนก,พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
กำหนดการทำบุญณะวังบุรพาภิรมย์ กรุงเทพฯ ปีจออัฏฐะศก จุลศักราช 1248 แล พระอะภิณหะประวัติ ของกรมสมเดจพระเทพศิรินทรามาตย์ กับสมเดจพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมไปรสนีย์แลโทรเลข, จ.ศ. 1248.
จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 และ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. (คณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกจดหมายเหตุพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พ.ศ. 2545)
ดำรัศดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า (ผู้รวบรวม). พระประวัติสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดชฯ. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2472. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช 2472)
ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2471 เล่ม 45.
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พล.ต. ม.ร.ว. และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2549.
คำสำคัญ