รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
เกิด
วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2402
เสียชีวิต
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2480
ประวัติ
หม่อมเจ้าภุชงค์เป็นพระโอรสพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (ต้นราชสกุลชมพูนุช) กับหม่อมปุ่น ประสูติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2402 เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาในสำนักเจ้าจอมมารดาสัมฤทธิจนถึงพ.ศ. 2414 เมื่อเกศากันต์แล้วได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประเทศอินเดีย ครั้นถึงประเทศสิงคโปร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าภุชงค์ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนแรฟฟัลอยู่ 9 เดือน จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้กลับมาทรงศึกษาต่อในประเทศ ได้ทรงศึกษาอักษรขอมและภาษาไทยกับพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)
หม่อมเจ้าภุชงค์ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อพ.ศ. 2416 มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นอุปัชฌาย์ และได้ประทับที่วัดราชบพิธ ในขณะที่ผนวชเป็นสามเณร ได้ทรงศึกษาภาษาไทยกับพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) ศึกษาพระปริยัติธรรมกับหลวงญาณภิรมย์(โพ) และศึกษาภาษาสันสกฤตกับพราหมณ์โคปาลศาสตรี ภัฏฏาจารย์
สามเณรหม่อมเจ้าภุชงค์ผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อพ.ศ. 2422 ได้รับฉายาว่า สิริวฑฺฒโน แล้วประทับที่วัดราชบพิธดังเดิม ต่อมาในพ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ได้เปรียญ 4 ประโยค และพ.ศ. 2429 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้อีก 1 ประโยครวมเป็น 5 ประโยค
พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้หม่อมเจ้าพระภุชงค์เป็นหม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต ที่พระราชาคณะ
พ.ศ. 2442 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปาโมกข์ ต่อมา พ.ศ. 2448 ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสถาพรพิริยพรตฯ ตำแหน่งที่พระพรหมมุนีเจ้าคณะรองในคณะกลาง พ.ศ. 2453 ทรงได้รับสถาปนาให้มีสมณศักดิ์เสมอสมเด็จพระพุฒาจารย์ และในปีเดียวกันทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์
พ.ศ. 2464 เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ต่อมาในพ.ศ. 2469 เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์แสดงถึงความเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี พระนิพนธ์หลายๆเรื่องเป็นเอกสารที่มีคุณค่าต่อการศึกษาอย่างมากเช่น พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาบาลี-ไทย ที่ผู้ศึกษาภาษาบาลีในปัจจุบันคงใช้อ้างอิงอยู่
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2480 พระชนมายุได้ 78 ปี
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม*
ห้องที่ 163 – 164 รวมโคลง 56 บท เนื้อความตั้งแต่พระพรตให้นำพระมงกุฎมาถวายพระรามจนถึงพระรามให้เชิญพระมงกุฎและพระลบกลับอยุธยา
2. โคลงเบ็ดเตล็ด ได้แก่ พุทธาทิภาษิตคำโคลง เตมิยภาษิตคาถาคำโคลง ปราภวสูตรคำโคลง
3. ผลงานที่เรียบเรียงจากภาษาบาลี ได้แก่ อภิธานัปปทีปิกา สามเณรานุสิกขา อรรถกถาชาดกแปล 5 เรื่อง สีวิชัยชาดก และอรรถกถามหานิบาตจำนวน 10 เรื่องหรือที่เรียกกันว่ามหานิบาตทศชาติฉบับชินวร ฯลฯ
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ชินวรสิริวัฒน์,สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง.มหานิบาตทศชาติฉบับชินวร. 2 เล่ม พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2481.(อนุสสรณีย์อุทิศถวายพระกุศลแด่พระองค์ ในงานพระเมรุ พระพุทธศักราช 2481)
ตำนานพระอารามแลทำเนียบสมณศักดิ. พระนคร : โรงพิมพ์ไท, 2457.(พิมพ์แจกในงานศพเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรฯ (หม่อมราชวงษ์คลี่ สุทัศน์)องคมนตรี รัฐมนตรี)
กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2547.
พุทธาทิภาษิตคาถาแปลและพระราชนิพนธ์คำโคลง พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราช.กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539.
เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านายฉะบับมีพระรูป. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2472. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ปีมะเส็ง พ.ศ. 2472)
ศีวิชัยพระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ. พระนคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2510. (ธรรมบรรณาการที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ หม่อมหลวงหญิงนวม สนิทวงศ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง พระนคร 6 มกราคม 2510)
คำสำคัญ