พระยามหามนตรี นามเดิม ทองคำ สีหอุไร บุตรนายทองดีกับนางเมือง เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2385 ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เรือนแพหน้าวัดมหาธาตุกรุงเทพมหานคร
เมื่ออายุได้ 8 ปี บิดาถึงแก่กรรม หม่อมแพผู้เป็นอาได้รับมาอุปการะอยู่ในวัง อายุ 13 ปี ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม หนังสือไทย ขอม และวิชาช่างต่างๆ จนครบกำหนดอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จึงได้บวชเป็นพระภิกษุ 1 พรรษา เมื่อลาสิกขาแล้วเข้ารับราชการเป็นนายเวรมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายทองคำมหาดเล็กเป็นจ่าผลาญอริพิษ ในกรมพระตำรวจใหญ่ขวา และให้เป็นนายด้าน (ผู้ควบคุมการก่อสร้าง) ตกแต่งพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารขวา เป็นพระพรหมบริรักษ์เมื่อพ.ศ. 2420 ต่อมาได้รับราชการด้านงานช่างต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เป็นนายด้านทำพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทำโรงเอกซหิบิชั่นที่ท้องสนามหลวงคราวฉลองพระนครครบ 100 ปี และได้เป็นข้าหลวงทำหน้าที่จัดเจ้าพนักงานรับส่งหนังสือบอกราชการกองทัพคราวปราบฮ่อ ครั้นพ.ศ. 2429 ได้เป็นพระพิเรนทรเทพบดีศรีสมุห เจ้ากรมตำรวจใหญ่ซ้าย รักษาการเมืองนครราชสีมา
พ.ศ. 2436 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยามหามนตรี ศรีองครักษสมุห เจ้ากรมตำรวจในขวา ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานรัชฎาภิเษกขึ้นที่พระนครศรีอยุธยา พระยามหามนตรีเป็นผู้หนึ่งที่ได้จัดลับแลไฟและแต่งโคลงเฉลิมพระเกียรติพระไชยราชาธิราชในงานนี้ด้วย
พ.ศ. 2437 ได้เป็นพระยาอนุชิตชาญไชย จางวางกรมพระตำรวจขวา ทำหน้าที่องคมนตรีที่ปรึกษาราชการ และกรรมการศาลฎีกาในเวลาเดียวกัน
พ.ศ. 2443 เมื่อมีอายุได้ 58 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาสีหราชฤทธิไกร อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้ากรมอาสาใหญ่ซ้าย จนถึงอายุ 61 ปี ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาขอลาจากราชการเพื่อรักษาตัว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระยาสีหราชฤทธิไกรได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต บวชเป็นสามเณรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2454
หลังจากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุและอยู่ในสมณเพศโดยตลอด พ.ศ. 2466 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศเป็นพระราชาคณะยก มีนามว่าพระสุวรรณรัศมี มรณภาพเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2470 อายุได้ 86 ปี พรรษา 17
1. นิทานเทียบสุภาษิตหรือนิทานกระทู้ แต่งเมื่อเป็นพระภิกษุ
2. โคลงเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระไชยราชาธิราช ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน
สีหราชฤทธิไกร, พระยา. นิทานเทียบสุภาษิต. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2471. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุวรรณรัศมี เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2471)
เอนก นาวิกมูล. “พระยาสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหอุไร) นายตำรวจผู้ออกบวชอุทิศส่วนกุศลถวาย ร. 5.” เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 659 (17 มกราคม 2548) – ฉบับที่ 661 (31 มกราคม 2548).