พ่อขุนรามคำแหง หรือพญารามราช เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง ทรงได้รับราชสมบัติสืบต่อจากพ่อขุนบานเมือง พระเชษฐา เมื่อราวพ.ศ. 1822
พ่อขุนรามคำแหงขยายอาณาจักรสุโขทัยออกไปได้อย่างกว้างขวางที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย กล่าวโดยสรุปคือ ทิศตะวันออกข้ามแม่น้ำโขงจดเมืองเวียงจันทน์ เวียงคำ ทิศใต้จดเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองในแหลมมลายู ทิศตะวันตก จดเมืองหงสาวดี ส่วนทิศเหนือ จดเมืองแพร่ น่าน และเมืองหลวงพระบาง
การปกครองภายในประเทศนั้น พ่อขุนรามคำแหงทรงปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ทรงมุ่งหมายให้ประชาชนตั้งอยู่ในศีลธรรมและพระราชทานความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยเสมอหน้า บ้านเมืองในยุคของพระองค์มีความก้าวหน้าด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม การชลประทาน ฯลฯ พระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งได้แก่การประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เป็นปฐมใน พ.ศ. 1826
พ่อขุนรามคำแหงสวรรคตในราวพ.ศ. 1841 ภายหลังได้รับพระราชสมัญญาว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท, 2517. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เปรียญ ณ ฌาปนสถานของคุรุสภา วัดสระเกศราชวรวิหาร วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2517)
“รามคำแหงมหาราช, พ่อขุน.” ใน สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร. พระนคร : กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541.
“ศิลาจารึกหลักที่ 1, 3, 5, 13, 38” ใน จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526. (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง 700 ปี ลายสือไทย พ.ศ. 2526)