หลวงรามทิพรจน์ นามเดิม เหี้ยม เกิดในตระกูลข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นบุตรคนโตของหลวงประกอบวรกิจ (พวง) กับนางเปี่ยม และเป็นหลานปู่ของพระภักดีภูธร (รื่น ผู้สืบเชื้อสายพระยาพิพิธสมบัติ (ศุข) เจ้าเมืองตราด) ยกกระบัตรเมืองตราด บิดาหลวงรามทิพรจน์เสียชีวิตตั้งแต่หลวงรามทิพรจน์มีอายุเพียง 10 ปี ต่อมามารดามีสามีใหม่และย้ายไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ส่วนหลวงรามทิพรจน์นั้นอยู่กับญาติที่ตึกย่านตลาดขวาง ในตัวเมืองตราด เมื่อจำเริญวัยขึ้นได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งปลัดเมืองตราด
เมื่อเกิดเหตุการณ์เสียเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศสในพ.ศ. 2447 หลวงรามทิพรจน์มีความละอายใจที่จะอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสด้วยกลัวจะเสียเกียรติของวงศ์ตระกูล จึงพาครอบครัวอพยพออกจากเมืองตราด เดินทางไปอยู่ที่หลังตลาดจันทบุรี ต่อมาไม่นานได้ไปขอซื้อที่ดินที่ถนนวัดใหม่ ปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยตั้งหลักฐานอยู่ที่จันทบุรี และได้ซื้อสวนที่ถนนเลียบเนินริมทุ่งนาเชย ประกอบอาชีพทำสวนเงาะทุเรียนและผลไม้ต่าง ๆ อยู่ที่จันทบุรีจนสิ้นชีวิต บรรดาลูกหลานได้นำศพไปตั้งที่วัดใหม่จันทบุรี และสร้างเจดีย์ครอบศพไว้ มีข้อความจารึกที่เจดีย์นั้นว่า “ที่บรรจุศพหลวงรามทิพรจน์ (เหี้ยม) ต้นตระกูล รมยานนท์
กรุ่น รมยานนท์ ( อายุ 86 ปี ทายาทหลวงรามทิพรจน์ (เหี้ยม รมยานนท์) บ้านท่าเรือจ้าง ต.ท่าเรือจ้าง อ.เมือง จ.ตราด). สัมภาษณ์, 11 มีนาคม 2545.
ประวัติและนามานุกรม ตระกูลรมยานนท์ - สูตะบุตร - สุทธิวาทนฤพุฒิ. ม.ป.ท., 2512. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายหิรัญ สูตะบุตร วันที่ 24 ธันวาคม 2512)
รามทิพรจน์, หลวง. นิราศเมืองตราด. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2518.
วัชรี รมยานนท์ พาทีทิน (อายุ 72 ปี ทายาทหลวงรามทิพรจน์ (เหี้ยม รมยานนท์) บ้านท่าเรือจ้าง ต.ท่าเรือจ้าง อ.เมือง จ.ตราด). สัมภาษณ์, 11 มีนาคม 2545.
อุรา รมยานนท์ บุณยพุกกณะ. “ประวัติตระกูลรมยานนท์ – สูตะบุตร.” หนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิง
ศพนางรัมภา สูตะบุตร. ม.ป.ท., 2537. (วันที่ 4 กันยายน 2537)