พญาลิไทหรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 เป็นพระราชโอรสพญาเลอไทย และเป็นพระราชนัดดาพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงครองเมืองศรีสัชนาลัยในตำแหน่งอุปราช เมื่อพ.ศ. 1882 ต่อมาได้เสวยราชย์ครองกรุงสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1890
พญาลิไททรงเป็นนักปราชญ์และนักการปกครองที่ทรงพระปรีชาสามารถทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร ทรงเชี่ยวชาญในสรรพศาสตร์ อาทิ พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ
พระราชกรณียกิจในฝ่ายพระราชอาณาจักร เช่น ได้ทรงขยายอาณาเขต โปรดให้ขุดคลอง สร้างถนนหนทางเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญในราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงสร้างศิลาจารึกไว้หลายหลักทั้งภาษาไทย ภาษามคธและภาษาขอม ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์จนทุกวันนี้
ส่วนพระราชกรณียกิจฝ่ายพุทธจักรนั้น ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ. 1904 เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงพระผนวชในขณะเสวยราชย์ ได้ทรงสร้างโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น พระวิหาร พระมหาธาตุ พระพุทธบาท ไว้ตามเมืองสำคัญหลายแห่ง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปลักษณะการปกครองของพญาลิไทไว้ว่า “...พระเจ้าขุนรามคำแหงทรงบำเพ็ญจักวรรติวัตรแผ่พระราชอาณาจักร และพระราชอำนาจด้วยการมุ่งปราบปรามราชศัตรูฉันใด พระมหาธรรมราชาลิไทยก็ทรงบำเพ็ญในทางที่จะเป็นธรรมราชา คือปกครองพระราชอาณาจักร หมายด้วยธรรมานุภาพเป็นสำคัญฉันนั้น”
พญาลิไทได้ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถา* หรือไตรภูมิพระร่วง* อันเป็นวรรณคดีที่มีอิทธิพลในการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนากับธรรมานุภาพให้เจริญยิ่งในพระราชอาณาจักร
พญาลิไทเสด็จสวรรคตในราวพ.ศ. 1914 แต่ไม่เกินพ.ศ. 1919
ตำนานมูลศาสนา ฉบับพุทธพุกาม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2518. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์)
“บานแพนก” ใน ไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร : คุรุสภา, 2506.
พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท, 2517. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร เปรียญ ณ ฌาปนสถานของคุรุสภา วัดสระเกศราชวรวิหาร วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2517)
“พระราชประวัติองค์นิพนธ์.” ใน พระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย. ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง. พิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับตรวจสอบชำระใหม่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2526. (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในการประชุมสัมมนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง ในโอกาสฉลอง 700 ปีลายสือไทย วันที่ 19-21 ธันวาคม 2526 ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ)
พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เรื่องสมเด็จพระบรมศพ คือ จดหมายเหตุงานพระเมรุ ครั้งกรุงเก่า กับพระราชวิจารณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2540.
“ศิลาจารึกหลักที่ 2, 3, 4, 5, 6, 8, 9, 11, 93” ใน จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526. (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง 700 ปี ลายสือไทย พ.ศ. 2526)